กินไซยาไนด์เข้าไป อาการเป็นแบบไหน วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น โอกาสรอดชีวิต
เปิดวิธีสังเกตอาการ หากกินไซยาไนด์เข้าไป พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากร่างกายได้รับไซยาไนด์มีโอกาสรอดกี่เปอร์เซ็นต์
ไซยาไนด์ (Cyanide) สารเคมีอันตรายที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในขณะนี้ จากกรณีหญิงวูบหมดสติขณะปล่อยปลา จนนำไปสู่การสืบสวนและค้นหาหลักฐานในบ้านของผู้ต้องสงสัย ก่อนจะพบขวดไซยาไนด์ ซึ่งคาดว่าเป็นของกลางที่ผู้ต้องสงสัยใช้ก่อคดี
วันนี้ทีมงานไทยเกอร์จึงขอเกาะติดประเด็นนี้ พร้อมเปิดข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสารพิษอันตรายถึงชีวิตอย่าง ไซยาไนด์ หากได้รับหรือกินเข้าไปจะมีอาการอย่างไร ควรใช้วิธีปฐมพยาบาลอย่างไร รวมถึงเปิดเปอร์เซ็นต์ในการรอดชีวิตหากได้รับไซยาไนด์ มาติดตามคำตอบทั้งหมดนี้ได้ที่นี่
กินไซยาไนด์เข้าไป ร่างกายจะมีอาการอย่างไร?
ไซยาไนด์ (Cyanide) จัดเป็นสารเคมีที่ความเป็นพิษสูงมาก และใช้เวลาในการออกฤทธิ์รวดเร็วไปยับยั้งการทำงานต่าง ๆ ของเซลล์ หากได้รับไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายเพียง 0.5-3.5 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ก็เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่หากได้รับในปริมาณน้อยก็จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยพิษจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะในที่สุด
หากคุณเผลอ กินไซยาไนด์เข้าไป หรือร่างกายได้รับสารไซยาไนด์ จะมีอาการปรากฏแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปริมาณสารไซยาไนด์ที่ร่างกายได้รับ ดังนี้
อาการเบื้องต้น
หากได้รับพิษไซยาไนด์ ผู้รับพิษจะมีอาการระคายเคืองบริเวณที่สัมผัส เช่น ผิวหนังหรือดวงตา หรือมีอาการคล้ายคนขาดอากาศหายใจ สังเกตได้จากอาการอ่อนแรง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจติดขัด หมดสติ และหัวใจหยุดเต้น เป็นต้น
ภาวะเป็นพิษเฉียบพลัน
แม้ว่าภาวะเป็นพิษเฉียบพลันจะพบได้ยาก แต่หากเกิดขึ้นแล้วสารไซยาไนด์จะส่งผลต่อร่างกายในทันที โดยผู้ที่รับสารพิษเข้าไปจะมีอาการหายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก หรือหมดสติ
ภาวะเป็นพิษเรื้อรัง
เกิดจากการได้รับสารไซยาไนด์ในปริมาณเล็กน้อยเป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง เบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นแดง และอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย เยื่อบุตาอักเสบ ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น
หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดปกติ ผิวหนังบริเวณใบหน้าและแขนขากลายเป็นสีม่วง โคม่า สูญเสียความรู้สึกตัว ชัก และเสียชีวิตในที่สุด
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากกินไซยาไนด์เข้าไป
ทันทีที่ที่รู้ตัวว่าร่างกายได้รับสารไซยาไนด์ เผลอสูดดมหรือกินไซยาไนด์เข้าไป ควรรีบปฐมพยาบาลด้วยการล้างปาก ให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วยด้วยการ CPR โดยห้ามผายปอดด้วยปาก เพราะเสี่ยงให้ผู้ช่วยเหลือได้รับพิษไปด้วย ที่สำคัญคือห้ามให้ผู้ป่วยอาเจียนเด็ดขาด เพราะสารพิษจะย้อนกลับมาทำลายอวัยวะ และให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
หากสูดดมเข้าไป ให้รีบนำตัวผู้ป่วยออกจากจุดเกิดเหตุไปอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท ทำการปฐมพยาบาลด้วยการ CPR โดยห้ามผายปอดด้วยปากเช่นเดียวกัน
หากมีการสัมผัสพิษไซยาไนด์บริเวณผิวหนัง ดวงตา ให้รีบล้างออกด้วยน้ำเปล่าให้มากที่สุด หากสารพิษติดเสื้อผ้าให้ใช้กรรไกรตัด ป้องกันพิษไปโดนส่วนอื่นของร่างกาย
มีโอกาสรอดไหม หากร่างกายรับสารไซยาไนด์เข้าไป
หากร่างกายได้รับไซยาไนด์ในปริมาณที่น้อยจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่หากได้รับเกิน 0.5-3.5 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ก็เสี่ยงทำให้โอกาสในการเสียชีวิตสูง หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลและนำส่งถึงมือแพทย์ในทันที
สรุปได้ว่าวิธีสังเกตอาการหากเผลอกินไซยาไนด์เข้าไปโดยไม่ทันตั้งตัว ร่างกายจะมีอาการคล้ายคนหายใจไม่ออก และถ้ายิ่งรับสารพิษในปริมาณมากก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมากเท่านั้น.
- รู้จัก ‘ไซยาไนด์’ (Cyanide) สารเคมีอันตราย พิษร้ายแรง ให้ทั้งประโยชน์และโทษ
- ด่วน! จับได้แล้ว ‘แอม เมียรองผู้กำกับ’ พร้อมขวดไซยาไนด์
- ‘อ.เจษฎ์’ แก้ข่าว ต้นตีนเป็ด มีสารพิษ ไซยาไนด์ เป็นข่าวปลอม