‘โหนกระแส’ ฟังมุมมองคนทำหนัง #แบนสุพรรณหงส์ หนังไทยวิกฤตหนัก
โหนกระแส ติดตามกระแส #แบนสุพรรณหงส์ เชิญคนทำหนัง และ สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ถกประเด็น หนังไทยกำลังดิ่งลงเหว เข้าสู่จุดวิกฤต จริงหรือหลอก
หลังจากที่มีกระแสแฮชแท็ก #แบนสุพรรณหงส์ เนื่องจากทีมงานภาพยนตร์เรื่อง เวลา (Anatomy of Time) ออกมาเผยถึงเกณฑ์การตัดสินคัดเลือกภาพยนตร์เข้าชิงรางวัลที่ไม่ยุติธรรม เอื้อหนังฟอร์มใหญ่ ตัดโอกาสหนังฟอร์มเล็ก โดยเกณฑ์คัดเลือกหนังที่มีคุณสมบัติผ่านเข้ารอบของเวทีสุพรรณหงส์คือ
- ต้องฉายในโรงภาพยนตร์ ฉายผ่านสตรีมมิ่งอย่างเดียวไม่ได้
- ต้องเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ครบทุก 5 ภูมิภาค อย่างน้อยใน 5 จังหวัดใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี นครราชสีมา นครศรีธรรมราช
- ต้องมีผู้ชมไม่น้อยกว่า 50,000 คน
ทำให้บุคลากรในวงการหนัง ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง ผู้กำกับ คนเขียนบท ต่างก็ออกมาแสดงจุดยืนด้วยการขอถอนตัวจากการเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ 2566 และติดแฮชแท็ก #แบนสุพรรณหงส์ จนเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์อย่างมาก
ล่าสุด 31 มีนาคม 2566 รายการโหนกระแส ดำเนินรายการโดย หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ได้นำประเด็นนี้มาพูดถึงในรายการ โดยได้เชิญตัวแทนจากทั้ง 2 ฝั่ง ตัวแทนของคนทำภาพยนตร์ไทย ได้แก่ นุชี่ อนุชา บุญยวรรธณะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล ผู้กำกับภาพยนตร์ และ พรชัย ว่องศรีอุดมพร ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ เป็นตัวแทนจากฝั่งสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ มาร่วมพูดคุยกัน
ตัวแทนจากฝั่งผู้กำกับมองว่าเกณฑ์ที่สุพรรณหงส์ตั้งไว้ จะทำให้หนังอิสระจะถูกตัดโอกาสอย่างสิ้นเชิง เพราะหากนักลงทุนมองว่าหนังไม่ทำเงิน ก็จะไม่สามารถนำไปฉายครบทุก 5 ภูมิภาคได้ รวมถึงการกีดกันหนังอิสระ ถือเป็นการปิดโอกาสในการค้นหาแนวทางหนังใหม่ ๆ เข้ามาในอุตสาหกรรม และจะนำพาหนังไทยไปสู่จุดตกต่ำในที่สุด
รวมถึงในอดีตเวทีสุพรรณหงส์ ได้เปิดโอกาสให้หนังเล็ก ๆ ที่ไม่มีคนรู้จักได้รับการโปรโมต ดังนั้นรางวัลนี้จึงถือว่าให้เกียรติคนทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง คุณค่าของภาพยนตร์ไม่ได้วัดที่จำนวนคนดู ทุนสร้าง และรายได้ ฝั่งผู้กำกับจึงอยากให้ความศักดิ์สิทธิ์และคุณค่าของสุพรรณหงส์ยังคงอยู่
นอกจากนี้ควรหาทางออกที่เหมาะสม เพราะสุพรรณหงส์ถือเป็นรางวัล “แห่งชาติ” ดังนั้นควรมีวิธีคิดที่กว้างขึ้น และไม่ลืมที่จะสนับสนุนทุกคนในอุตสาหกรรมด้วย
พรชัย ได้ให้คำตอบว่า เวทีสุพรรณหงส์เป็นเวทีมหาชน อยู่ได้ด้วยคนดู ดังนั้นจึงเกรงว่าหนังที่เป็นที่รู้จักน้อยจะทำให้ผิดวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ส่วนหลักเกณฑ์ที่จะนำมาตัดสินในปีนี้มีการพูดคุยกันจริง แต่ยังอยู่ในระหว่างหารือ
ส่วนเอกสารเรื่องภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณาทั้งหมด 11 เรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่อง เวลา เป็นเอกสารการประชุมที่ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ เพราะเป็นเอกสารภายในที่หลุดออกไป ยังไม่มีผลสรุปอย่างชัดเจน แต่จะมีการประชุมสรุปผลภายในวันนี้
ส่วนเรื่องเกณฑ์การตัดสินที่ถูกเผยแพร่ออกมาในโลกอินเทอร์เน็ต จะยังนำมาใช้ตัดสินหรือไม่ พรชัยกล่าวว่า ตนยังไม่สามารถให้คำตอบได้ ขึ้นอยู่กับเสียงของกรรมการในที่ประชุม
เมื่อถามถึงประเด็นว่าจะมีโอกาสยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมได้หรือไม่ พรชัยอธิบายว่า สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม หากเกิดปัญหาก็สามารถยกเลิกกฎได้
ในระหว่างการดำเนินรายการ ท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ได้โทรเข้ามาพูดคุยในรายการโดยมองว่า ไม่สมเหตุสมผล ไม่ควรใช้กฎเกณฑ์เหล่านั้นมาใช้เพราะทุกเรื่องก็คือภาพยนตร์ไทยเหมือนกัน
นอกจากนี้ปัญหาการทำหนังไทยยังโยงไปถึงประเด็นการเมืองอีกด้วย เนื่องจากสื่อภาพยนตร์ยังถูกควบคุมและเซนเซอร์โดยภาครัฐ แต่ภาครัฐก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนเท่าที่ควร ค่อนข้างควบคุม จำกัดสิทธิเสรีภาพ มากกว่าส่งเสริมและสนับสนุนคนทำหนัง ซึ่งมองว่ารัฐพยายามควบคุมเนื้อหาโดยที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร
ฝั่งผู้กำกับจึงได้ฝากทางออกว่าปัญหาคนไม่ดูหนังไทย ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้น ๆ ควรให้เวลา เริ่มแก้ตั้งแต่ระบบการศึกษา ให้โอกาสคนทำศิลปะ เปลี่ยนมุมมองคนทำงาน สร้างตั้งแต่รากฐานคือหน่วยงานรัฐร่วมรับผิดชอบ มีกองทุนส่งเสริมและสนับสนุน ให้เติบโตทั้งคนทำ คนดู และภาคธุรกิจไปพร้อม ๆ กัน.
รับชมคลิปรายการโหนกระแส ประจำวันที่ 31 มีนาคม 2566 ที่นี่