ผู้ประกันตน ม.33 เตรียมจ่ายประกันสังคม เพิ่มเป็น 1,000 บาท ตามเพดานค่าจ้างแรงงาน
กระทรวงแรงงาน วางแผนปรับฐานการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมแก่ “ผู้ประกันตน” มาตรา 33 จากเดิม 750 บาท ขึ้นเป็น 1,000 บาท ตามเพดานค่าจ้างองค์กรแรงงานฯ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตั้งแต่วันนี้ 9 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ทางเว็บไซต์ระบบกลางกฎหมาย
ความคืบหน้าล่าสุดจากกระทรวงแรงงาน เตรียมปรับเปลี่ยน อัตราค่าจ้างสำหรับใช้เป็นฐานคำนวณจ่ายเงินสมทบกองทุน “ประกันสังคม” ในผู้ประกันตน มาตรา 33 เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2567-2573 (รวม 6 ปี) มีแผนเพิ่มเพดานเงินสมทบจากเดิม 750 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท ตามเพดานค่าจ้างองค์การแรงงานระหว่างประเทศ
ล่าสุดทางสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับการ กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. … ตั้งแต่วันนี้ถึง 28 ก.พ.นี้ ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางกฎหมาย
เนื่องจากใจความหลักของร่างกฎหมายที่นำมารับฟังความคิดเห็น คือ ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …. มีการปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงจาก 15,000 บาท อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งบังคับใช้ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2538 อย่างค่อยเป็นค่อยไปจนถึงปัจจุบัน สามารถเช็กขั้นต่ำขั้นสูงของค่าแรงได้ที่นี่
เช็กกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูง
- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท
- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท
- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท
อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้กำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2538 จนถึงปัจจุบัน
จึงสมควรปรับปรุงให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นไปตามมาตรฐานเพดานค่าจ้างขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อความเพียงพอของสิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนรองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น เพื่อการกระจายรายได้จากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อยภายในระบบประกันสังคม และเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบประกันสังคม
ส่วนประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนสำหรับผู้ประกันตน คือทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้นเนื่องจากฐานที่ใช้ในการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว จะคำนวณจากค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม
สำหรับผลต่อผู้ประกันตน เช่น ในปี 67 ผู้ประกันตนที่ค่าจ้างมากกว่า 17,500 บาท จะส่งเงินสมทบเดือนละ 875 บาท (เดิม 750 บาท) และจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น เงินทดแทนขาดรายได้กรณีว่างงานเพิ่มเป็นเดือนละ 8,750 บาท (จากเดิม 7,500 บาท) เป็นต้น
สำหรับเงินบำเหน็จชราภาพ จะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ เนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้น จากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ
สำหรับใครที่รู้ตัวว่าตัวเองทำประกันสังคม มาตรา 33 ก็อย่าลืมไปแสดงความคิดเห็นได้ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางกฎหมาย เพื่อหาแนวทางการขึ้นเงินสมทบประกันสังคมให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุดนั่นเอง
อ้างอิง : กระทรวงแรงงาน