เปิดประวัติ ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อดีตอธิบดี DSI ผู้คร่ำหวอดวงการแพทย์
ชวนรู้จักประวัติและผลงานของ ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อดีตอธิบดี DSI เส้นทางชีวิตของนายแพทย์นิติเวช สู่ผู้ครองเก้าอี้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก่อนถูกคำสั่งให้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ รักษาการ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ หรือ ต้น ปัจจุบันเขามีอายุ 57 ปี เกิดในปี 2508 ไตรยฤทธิ์เป็นคนภาคเหนือแต่กำเนิด เข้าศึกษาระดับปริญญาตรี ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และปริญญาเอก ที่คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ ไตรยฤทธิ์ได้มีโอกาสฝึกงานด้านผ่าตัด สมัยเริ่มทำงาน นายแพทย์ไตรยฤทธิ์ หรือ หมอต้น จึงได้เริ่มต้นเส้นทางอาชีพหมอ ด้วยการเป็นแพทย์ผ่าตัดที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และนายแพทย์ระดับ 4 สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
ก่อนที่ไตรยฤทธิ์จะตัดสินใจเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางด้านนิติเวช ไปพร้อมกับเรียนด้านกฎหมายไปด้วย แต่เขาไม่ได้เรียนกฎหมายจนจบ ช่วงนั้นไตรยฤทธิ์ได้ไปเริ่มต้นงานที่โรงพยาบาลมะเร็ง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะนายแพทย์ระดับ 6 หัวหน้ากลุ่มงานการรักษาศูนย์มะเร็ง
เมื่อเรียนจบนิติเวช ไตรยฤทธิ์ได้รับการเชิญชวนจากคุณหญิงหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ให้มาเริ่มต้นตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ด้วยกัน โดยเขารับหน้าที่หัวหน้ากลุ่มนิติเวชคลินิก นายแพทย์ระดับ 8 สำนักนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ก่อนจะเติบโตและได้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
จากนั้นเขาได้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม จนกระทั่ง ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ ได้ย้ายตำแหน่ง เลื่อนขึ้นมาเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน
โดยนายไตรยฤทธิ์ เคยเปิดเผยมูลค่าทรัพย์สินที่เขาครอบครอง เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดถึง 57 ล้านบาท รวมถึงของสะสมเป็นพระเครื่องและพระบูชาที่ประเมินค่าไม่ได้ร่วม 60 องค์
ด้านชีวิตส่วนตัว ไตรยฤทธิ์แต่งงานกับนางอรชร อิงคานุวัฒน์ มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 2 คน
แต่ล่าสุด วันที่ 18 มกราคม 2566 กระทรวงยุติธรรมได้มีคำสั่งให้ ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นบ้านหลังแรก ๆ ของไตรฤทธิ์ตามเดิม ในตำแหน่งรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พันตำรวจตรีสุริยา สิงหกมล ซึ่งโยกมาเป็นรักษาการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแทนไตรฤทธิ์นั่นเอง
รวมระยะเวลาที่ไตรฤทธิ์ ผู้ยึดถือคติว่า “จงเป็นคนดีมีคุณธรรม” ได้อยู่ในตำแหน่ง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งสิ้น 474 วัน.