ข่าวภูมิภาค

สสส. ปฐมนิเทศการศึกษาเพื่อดูงาน 3 พื้นที่ต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน จ.ภูเก็ต

วันนี้ (30พ.ย.) ที่ห้องอาเคเดีย โรงแรมฮิลตัน อาเคเดีย รีสอร์ท แอนด์สปา ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.), นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ด้านความปลอดภัยทางถนน และรองประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัดสนับสนุนโดย สสส.,นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการกองทุน สสส. และนพ.ทวีศักดิ์ นพเกสร กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. ปฐมนิเทศการศึกษาเพื่อดูงาน 3 พื้นที่ต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในการประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนทศวรรษแห่งความปลอดภัยบนท้องถนน

โอกาสนี้คณะผู้เข้าร่วมประชุมได้ลงพื้นที่ดูงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมีการเทคโนโลยีมาบังคับใช้กฎหมาย ณ จุดกวดขันวินัยจราจร เช่น การใช้กล้องตรวจจับความเร็ว (RED LIGHT CAMERA) การใช้ Speed Gun ปืนตรวจจับความเร็วรถ แอปพลิเคชั่น TEMA ตรวจจับกรณีฝ่าไฟแดง เป็นต้น บริเวณถนนขวาง ต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต พร้อมรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินการ โดยกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต, การศึกษาดูงานระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และการดูงานด้านการบริหารจัดการ ที่เทศบาลเมืองกะทู้

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติได้ยกเรื่องความสูญเสียจากการบาดเจ็บจากการจราจรเป็นปัญหาและวาระเร่งด่วนที่สำคัญโดยกำหนดให้ปี พ.ศ. 2554- 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน (Decade of Action for Road Safety) พร้อมผลักดันให้ทุกประเทศสมาชิกยกระดับให้เป็นวาระสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการเสียชีวิตลงร้อยละ 50 ในปี 2563 ซึ่งรัฐบาลไทยได้ขานรับมติดังกล่าว และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายทศวรรษแห่งความสำคัญความปลอดภัยทางถนน โดยยึดแนวทาง 5 เสาหลัก ได้แก่ ด้านบริหารจัดการ,ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางถนน, ด้านยานพาหนะปลอดภัย, ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนและด้านการรักษาและเยียวยาหลังเกิดเหตุ ซึ่งการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน และถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมายทศวรรษความปลอดภัยทางถนนได้

นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้รายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของไทยในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จากฐานข้อมูลสำคัญ 3 แหล่ง ได้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อมูลมรณะบัตรและหนังสือรับรองการตายของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่ามีประชากรไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งสิ้น 22,356 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 34.4 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดย 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิต เป็นเพศชายและกลุ่มอายุ 15-29 ปี มากที่สุด โดยทุกๆ ปี จะมีผู้พิการรายใหม่ที่เป็นเหยื่อจากอุบัติเหตุทางถนน 500 คน ทุกๆ วันจะมี 42 ครอบครัวที่สูญเสียสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานและเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวและการพัฒนาประเทศนอกจากนี้ทุกๆ วันมี 15 ครอบครัวประสบภาระต้องเลี้ยงดูผู้พิการจากการบาดเจ็บทางถนนไปตลอดชีวิต ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศรวมกว่า 2แสนล้านบาทต่อปี แม้ภาพรวมของปัญหาจะยังไม่ลดลง แต่ผลจากการดำเนินงานในระดับพื้นที่ที่ทำต่อเนื่องตลอดทั้งปีโดยใช้การจัดการข้อมูลแบบสหสาขาวิชาชีพเสริมการทำงานศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนจังหวัดและอำเภอ พบว่าสามารถลดการตายลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง เช่นจังหวัดภูเก็ตเป็นต้น และถือเป็นจังหวัดต้นแบบการจัดการความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยด้วย

ขณะ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตช่วงปี พ.ศ. 2540- 2549 ถูกจัดอันดับว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศ ปีละประมาณ 200-400 คนและจากความร่วมมือทำงานของภาคีเครือข่ายแบบสหสาขาวิชาชีพที่มีความเข้มแข็งทำให้สามารถลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงได้ โดยในช่วง10 ปีที่ผ่านมา สามารถลดการตายลงได้เกือบร้อยละ 50 เริ่มต้นจากการแก้ไขจุดเสี่ยงร้อยละ 30 และเน้นการบังคับใช้กฎหมาย เรื่อง การสวมหมวกนิรภัยและอื่นๆ อีกร้อยละ 20 มีการวิเคราะห์และแก้ไขจุดเสี่ยงที่พบบ่อยซ้ำซาก ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็บังคับใช้กฎหมายเรื่องการสวมหมวกนิรภัย ดื่มแล้วขับอย่างจริงจัง และยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานในจังหวัด และองค์กรเอกชนจากต่างประเทศ มาจัดหาเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์และเครื่องตรวจจับความเร็ว ทำให้จำนวนการเรียกตรวจและดำเนินคดีเมาแล้วขับเพิ่มจากเดิมกว่า 10 เท่า และพบว่าในปี2559 จังหวัดภูเก็ตสามารถลดจำนวนผู้บาดเจ็บลงได้ร้อยละ 3.5 และลดผู้เสียชีวิตลงได้ร้อยละ 8.8 นี่คือบทพิสูจน์ว่า หากจุดจัดการระดับพื้นที่ ซึ่งใกล้ชิดกับปัญหาที่สุด มีความเข้มแข็งจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะสามารถลดการตายได้เกินครึ่งและทำให้ประเทศไทยพ้นจาก 10 อันดับแรกของโลกได้ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button