สรุปดราม่า วู้ดดี้ รณรงค์เลิกพูด “อย่าคิดมาก” กรมสุขภาพจิตออกมาตอบ

กลายเป็นดราม่าในโลกออนไลน์หลังจากที่ วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา พิธีกรตัวท้อปของวงการ โพสต์ข้อความผ่านเพจ Woody เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 โดยมีเนื้อหาว่า
“อยากรณรงค์ให้คนเลิกพูดคำว่า ‘อย่าคิดมาก’ จัง มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะมันโชว์ให้เห็นถึงความไม่เข้าใจ แล้วทำให้คนฟังอยากตะโกนพูดว่า มรึงลองมาเป็นกูก่อน!!” พร้อมระบุแคปชั่น “ขอให้เป็นผู้ฟังที่มี Empathy ก็พอ”
แต่ดูเหมือนว่าการ รณรงค์ ของวู้ดดี้ในครั้งนี้ ทำเอาชาวเน็ตแตกออกเป็น 2 ฝ่ายมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย เพราะมองว่าคำพูดดังกล่าว เป็นการแสดงถึงความไม่ใส่ใจ แต่อีกฝ่ายก็บอกว่าการปลอบใจ คำพูดดังกล่าวขึ้นอยู่กับน้ำเสียง และเจตนารมย์มากกว่า บางคนไม่ใช่คนพูดเก่ง ไม่ใช่นักจิตวิทยา อาจจะคิดคำที่ดีที่สุดไม่ได้
จากดราม่านี้ เหมือนส่วนใหญ่จะเบนเข็มไปที่ฝั่งไม่เห็นด้วย และมีคอมเมนท์ต่าง ๆ ตามมามากายเช่น
“รณรงค์ให้ไม่คิดแบบนี้นะคะ มาระบายนี่ต้องการคนรับฟังมั้ย…แล้วถ้าเค้าปลอบไม่เก่งล่ะ…เอามีดมากรีดคอให้พูดมากกว่าคำว่า อย่าคิดมากก็คงไม่ได้ค่ะ…ไม่ใช่ไลฟ์โคช หรือนักจิตวิทยา ที่จะมีคำพูดสวยหรูและเข้าใจปัญหาชีวิตของทุกคน รณรงค์ว่าอย่าเอาปัญหาของตัวเองไปใส่หัวคนอื่นเยอะค่ะ อย่าต้องการให้คนอื่นมาเข้าใจปัญหาตัวเองขนาดนั้น เพราะทุกคนมีปัญหาของตัวเองหมด คนที่ไม่เล่าปัญหาไม่ใช่ไม่มี”
“อย่าคิดมากครับ “บางที” ก็ไม่ใช่ปัญหาของเขาที่จะมานั่งหาคำพูดที่ถูกใจเราเพื่อมาปลอบใจเรา ปัญหาเรามันหน้าที่เราต้องแก้ คนอื่นจะพูดยังไงมันก็สิทธิ์ของเขา เขาอาจจะแค่พูดตามมารยาทให้จบๆ ไป ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร คิดมากจัง อย่าคิดมากน่า”
“ไม่มีอะไรจะตั้งสเตตัส ก็ลงรูปของกินก็ได้นะคะ”
“ฉันอ่านใจเธอไม่ได้ค่ะ เธอต้องการอะไร เธออยากระบายอะไร ก็ควรเกริ่นนำค่ะกรณีนี้ คนฟังเขาทำหน้าที่ของเขาดีที่สุดแล้วค่ะ หวังให้คนฟังเข้าใจ…ช่วยเข้าใจหัวอกคนฟังด้วยค่ะ”
ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ให้ความคิดเห็นกับเรื่องนี้ไว้ว่า จริง ๆ แล้วการปลอบใจไม่ได้มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัว การใช้คำพูดไม่ได้มีข้อห้าม แต่อยากให้ดูเจตนาและท่าทางของคนที่มาพูดปลอบใจ ทักษะของการปลอบใจเพื่อนแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมีเวลาที่จะรับฟังเรื่องราว บางคนไม่มีเวลารับฟัง
นอกจากนี้ นพ.วรตม์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติว่า ประสบการณในการปลอบใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนก็พูดสั้น ๆ “ไม่เป็นไรนะ”, “สู้ ๆ นะ” ซึ่งถ้าเราพูดด้วยความจริงใจ ตั้งใจฟังในสิ่งที่เขาพูด หมอมองว่ามันเป็นการให้กำลังใจให้อีกฝ่ายรู้สึกดีขึ้นได้