ดูดวง

ปีชง 2566 ปีนักษัตรชงตรง-ชงร่วม แนะนำวัดทำบุญแก้ชง

เทศกาลฉลองปีใหม่กำลังจะมาถึง ซึ่งสิ่งสำคัญที่ตามมาด้วยไม่ขาดก็คือ “ปีชง 2566 ปีเถาะ” แต่ขอทำความเข้าใจกันก่อนว่า ปีชงนั้นไม่ได้หมายถึงปีที่มีแต่เรื่องร้ายอย่างเดียว จริง ๆ แล้วปีชงคือปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต เพราะคำว่า “ชง” มาจากภาษาจีน 冲 / 衝 (chōng) แปลว่า ปะทะ หรือ ชน ซึ่งอาจหมายถึงการปะทะทั้งเรื่องดีและไม่ดี

ทั้งนี้ ตำราว่าด้วยปีชงของชาวจีนนั้นมาจากศาสตร์ชื่อว่า “โป๊ยหยี่สี่เถียว” ซึ่งเป็นศาสตร์ที่อายุยาวนานกว่าพันปี และมีข้อมูลระบุไว้ถึงปีชงตรงเท่านั้น ส่วนข้อมูลปีชงร่วมไม่ปรากฏในศาสตร์ดังกล่าว โดยการนับปีชงแบบตำราจีนนั้น จะนับจากปีนักษัตรที่ตรงกับ พ.ศ. นั้นไปอีก 6 ปี

ปีชง 2566 ปีนักษัตรชงตรงและชงร่วม

สำหรับในปี พ.ศ. 2566 จะตรงกับปีนักษัตร ปีเถาะ นับต่อไปก็จะได้ 1. ปีมะโรง 2. ปีมะเส็ง 3. ปีมะเมีย 4. ปีมะแม 5. ปีวอก 6. ปีระกา มาดูกันว่าปีชงปีนี้ มีนักษัตรอะไรบ้าง

วิธีนับ ปีชง 2566

ปีที่ชงตรง 100% ก็คือปีระกา ส่วนปีชงร่วมได้แก่ ปีเถาะ (ปีนักษัตรใน พ.ศ. นั้น) ปีชวด และปีมะเมีย ซึ่งจะเรียงลำดับความชงดังนี้

  • ปีชง คือ ปีระกา เป็นปีที่เจอแรงปะทะมากที่สุด (ชง 100%)
  • ปีคัก คือ ปีเถาะ เป็นปีเดียวกับปีนักษัตรในรอบปีนั้น (ชง 50%)
  • ปีเฮ้ง คือ ปีชวด เป็นปีที่ควรระวังเรื่องเคราะห์กรรมเก่า
  • ปีผั่ว คือ ปีมะเมีย เป็นปีที่ควรระมัดระวังเรื่องสุขภาพ

ปีชง 2566 มีปีอะไรบ้าง

ทั้งนี้ปีชงตรง 2566 ที่เป็นปีระกานั้น จนตรงกับคนที่เกิดตรงกับปี พ.ศ. ต่อไปนี้ 2476 – 2488 – 2500 – 2512 – 2524 – 2536 – 2548 – 2560

ส่วนปีชงร่วม 2566 ที่เป็นปีนักษัตรเถาะ ชวด และมะเมีย จะตรงกับคนที่เกิดในปี พ.ศ. ต่อไปนี้ 2467 – 2470 – 2473 – 2479 – 2482 – 2485 – 2491 – 2494 – 2497 – 2503 – 2506 – 2509 – 2515 – 2518 – 2521 – 2527 – 2530 – 2533 – 2539 – 2542 – 2545 – 2551 – 2554 – 2557 – 2563

ปีชง 2566 พ.ศ. ปีชงตรง ปีชงร่วม

ข้อปฏิบัติหลีกเลี่ยงความชงในปี 2566

ใครที่รู้ตัวว่าปีหน้าตรงกับปีชงของตัวเอง ก็ไม่ต้องกังวลใจจนเกินไป เพียงแค่ปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามหลักโหราศาสตร์จีน ก็ช่วยบรรเทาความชงให้ลดน้อยลงได้ โดยสามารถปฏิบัติตัวตามตำราดังนี้

1. งดเดินทางไปร่วมงานศพ หรืองานอวมงคลต่าง ๆ เพราะจะทำให้สิ่งไม่ดีติดตัวกลับมาด้วย แต่ถ้าหากเลี่ยงไม่ได้ก็ให้พกกิ่งใบทับทิมติดตัวไปด้วย ก่อนเข้าบ้านให้รดน้ำสะอาดใส่กิ่งใบทับทิมแล้วมาปัดให้ทั่วตัวก่อนเข้าบ้าน

2. บูชาองค์เทพไท้ส่วยเอี้ย ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ดูแลเกี่ยวกับโชคชะตาของมนุษย์ มีทั้งหมด 60 องค์ โดยเทพจะลงมาดูแลมนุษย์เพียงปีละ 1 องค์เท่านั้น และเมื่อครบรอบอายุ 60 ปี ก็จะเท่ากับว่าเทพไท้ส่วยเอี้ยดูแลเราครบทุกองค์แล้ว ดังนั้นจึงมีการจัดงานแซยิดฉลองที่เทพไท้ส่วยเอี้ยจะวนกลับมาดูแลเราอีกรอบ

ปีชง 2566

วิธีสะเดาเคราะห์แก้ปีชง

นอกจากจะต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำที่ให้ไว้ในเบื้องต้นเพื่อหลีกเลี่ยงระดับความชงที่รุนแรงแล้ว การเดินทางไปทำบุญไหว้พระ ไหว้องค์เทพเจ้า และสะเดาะเคราะห์ ก็เป็นสิ่งที่คนปีชงควรทำอย่างยิ่งเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากชีวิต

ทำบุญถือศีลแก้ชง

แต่ละปีนักษัตรทั้งปีชงตรงและปีชงร่วมนั้นจะมีแนวทางทำบุญสะเดาะเคราะห์ที่แตกต่างกันไป ดังนี้

1. ปีระกา ให้ทำบุญโดยการถือศีล งดทานเนื้อสัตว์ กินมังสวิรัติ ปฏิบัติธรรมนั่งกรรมฐาน

2. ปีชวด ให้ทำบุญเกี่ยวกับแสงสว่าง เช่น ถวายเทียน เติมน้ำมันตะเกียง หรือจะทำบุญด้านการศึกษา เป็นแสงสว่างทางปัญญาก็ได้เช่นกัน

3. ปีมะเมีย ให้ทำบุญเกี่ยวกับน้ำ เช่น บริจาคน้ำดื่ม ถวายค่าน้ำ-ค่าไฟวัด หรือทำบุญบำรุงวัดวาอาราม

4. ปีเถาะ ให้ทำบุญเกี่ยวกับให้ชีวิตเป็นทาน เช่น ปล่อยสัตว์ปล่อยปลาหน้าเขียง ไถ่ชีวิตโคกระบือ

วิธีแก้ชงปี 2566

วัดแก้ปีชง 2566 ที่แนะนำให้ไปทำบุญสะเดาะเคราะห์

การเดินทางไปไหว้พระ ไหว้องค์เทพไท้ส่วยเอี้ย ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการแก้ปีชงที่ควรทำควบคู่ไปกับการประพฤติตนให้อยู่ในบุญ เพื่อให้กุศลแห่งความดีและองค์เทพปกป้องคุ้มครองเรา

สำหรับ “วัดแก้ปีชง” หรือสถานที่ที่เดอะไทยเกอร์แนะนำให้เดินทางไปทำบุญสะเดาะเคราะห์และไหว้องค์เทพนั้น จะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 วัด ดังนี้

1. วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่

ที่ตั้ง : 423 ถนนเจริญกรุง แขวงป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100

พิกัด : วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่

เวลาเปิด-ปิด: เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.

2. วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2)

ที่ตั้ง : 959 หมู่ 4 ถนนเทศบาล 9 ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี

พิกัด : วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2)

เวลาเปิด-ปิด: เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.

3. วัดโพธิ์แมนคุณาราม

ที่ตั้ง : 323 ถนนสาธุประดิษฐ์ ซอย 19 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร

พิกัด : วัดโพธิ์แมนคุณาราม

เวลาเปิด-ปิด: เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น.

4. วัดทิพยวารีวิหาร (หรือวัดกัมโล่วยี่)

ที่ตั้ง : ซอยทิพย์วารี แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พิกัด : วัดทิพยวารีวิหาร (หรือวัดกัมโล่วยี่)

เวลาเปิด-ปิด: เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.

5. ศาลเจ้าหน่าจาไท้จื้อ

ที่ตั้ง : 1/13 หมู่ 5 ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี

พิกัด : ศาลเจ้าหน่าจาไท้จื้อ

เวลาเปิด-ปิด: เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.

ปีชง 2566

ของไหว้แก้ปีชง

แต่ก่อนออกเดินทางไปที่วัดหรือสถานที่สำหรับทำบุญสะเดาะเคราะห์ อย่าลืมนำของไหว้องค์เทพไท้ส่วยเอี้ยติดตัวไปด้วย โดยของไหว้สำหรับแก้ปีชงจะมีดังนี้

1. ส้มมงคล หรือ ไต้กิก จำนวน 1 จาน โดยหลังจากที่ไหว้องค์เทพเสร็จก็สามารถนำส้มกลับมารับประทานเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเองได้

2. น้ำมันเติมตะเกียง จำนวน 1 ขวด เป็นการทำบุญแสงสว่างเพื่อขอพรต่อองค์เทพให้เรามีชีวิตที่รุ่งเรืองสว่างไสวตลอดทั้งปี

3. กระดาษเงินกระดาษทอง จำนวน 13 แผ่น และ เทียนสีแดง 1 เล่ม ให้นำเทียนมาเขียน ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด ของตัวเองลงไปในกระดาษ และใช้กระดาษเหล่านั้นมาปัดที่ตัวเอง 13 รอบ ตั้งแต่หัวจรดเท้าจนสุดแขน

4. ซองบรรจุดวงชะตา สำหรับบรรจุกระดาษเงินกระดาษทองที่เราเขียนชื่อและวันเกิดไว้ ให้เรานำไปฝากที่ศาลเจ้า เพื่อรับพลังจากบทสวดมนต์ของพระจีน เป็นการเสริมดวงชะตาให้แข็งแรงมากขึ้น และเพิ่มความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเรา

วิธีแก้ชงปี 2566

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่อง ปีชง นั้นก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งการทำบุญกุศลให้กับตัวเองเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงปีชงแล้วค่อยทำก็ได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคนด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำเนินชีวิตคือการตั้งตนบนพื้นฐานของความดีและคุณธรรม เพียงเท่านี้ชีวิตเราก็จะเป็นสุขและปราศจากความทุกข์ทั้งปวง.

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button