เปิดประวัติ วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก 2565 หรือ International Tiger Day มีความสำคัญอย่างไร พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับเสือโคร่ง อ่านได้แล้วที่นี่
วันที่ 29 กรกฎาคม วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่ผู้คนจะได้ตระหนักถึงความสำคัญของเสือโคร่ง สัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่ใกล้สูญพันธุ์ The Thaiger จึงพาไปทำความรู้จักกับวันอนุรักษ์สัตว์ป่าที่สำคัญของไทยกัน อีกทั้งลักษณะ และความเป็นอยู่ของเสือโคร่งในปัจจุบันกันด้วย
ทำความรู้จัก วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก 2565 มีความเป็นมาอย่างไร
วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เป็นวันสำคัญของสัตว์ป่า ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อครั้งที่มีการประชุมเสือโคร่งโลก หรือ Tiger Summit เมื่อปี พ.ศ. 2533 ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย
ในการประชุมครั้งนี้ประกอบไปด้วยสมาชิกประเทศที่มีเสือโคร่งกระจายอยู่ภายในประเทศ จำนวน 13 ประเทศ ได้แก่ ประเทศบังกลาเทศ ประเทศภูฏาน ประเทศกัมพูชา ประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศลาว ประเทศมาเลเซีย ประเทศเมียนมาร์ ประเทศเนปาล ประเทศรัสเซีย ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย
การประชุมเสือโคร่งโลกในครั้งนี้ ประเทศเหล่าสมาชิกได้ร่วมกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญ คือ วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก หรือ International Tiger Day เพื่อให้คนทั่วโลกได้รู้ถึงความสำคัญของสัตว์ป่าชนิดนี้ และเพื่อปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรชาติของพวกมัน รวมทั้งการสนับสนุนในโครงการอนุรักษ์พันธุ์เสือโคร่งอีกด้วย
ถิ่นที่อยู่และนิสัยของเสือโคร่งในธรรมชาติ
เสือโคร่ง หรือ เสือลายพาดกลอน จัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในอันดับของสัตว์กินเนื้อ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Panthera tigris โดยเสือโคร่งคือเสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังพบว่าเสือโคร่งไซบีเรียเป็นเสือโคร่งที่มีลำตัวใหญ่กว่าเสือโคร่งชนิดอื่นอีกด้วย
แหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งคือทั่วผืนป่าไม้ในทวีปเอเชีย และทางตะวันออกของประเทศรัสเซีย ปัจจุบันพบว่ามีแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งเพียงร้อยละ 7 จากขนาดพื้นที่เดิมเท่านั้น จึงต้องช่วยกันอนุรักษ์เสือโคร่งในธรรมชาติ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์ขึ้น
อาหารของเสือโคร่งจะเป็นเนื้อสัตว์ มีรายงานว่าอาหารโปรดของมันคือ กวาง และหมูป่า ซึ่งเสือโคร่งหนึ่งตัวสามารถกินเนื้อได้ถึง 40 กิโลกรัมต่อครั้ง และต้องการกินเก้ง 3 ตัวต่อหนึ่งสัปดาห์เพื่อให้เพียงพอต่อร่างกายอันใหญ่โตของมัน
เสือโคร่งกับการใกล้สูญพันธุ์ของสัตว์ชนิดนี้
เสือโคร่งถูกระบุว่าเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ในบัญชีแดงไอยูซีเอ็น และต้องได้รับการอนุรักษ์จากองค์กรต่าง ๆ โดยจำนวนประชากรของเสือโคร่งในธรรมชาติลดลงถึงร้อยละ 97 ภายในไม่กี่ร้อยปี เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 พบว่า ประชากรเสือโคร่งลดลงเหลือเพียง 3,200 ตัว จาก 100,000 ตัว ส่วนสายพันธุ์เสือโคร่งที่สูญพันธุ์ไปแล้ว มีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เสือโคร่งบาหลี เสือโคร่งชวา และเสือแคสเปียน
ปัจจุบันคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรของเสือโคร่งทั่วทั้งโลกเหลือเพียงแค่ 3,200 ตัว และในประเทศไทยที่ได้รับการอนุรักษ์อยู่ มีจำนวนประชากรเสือโคร่งที่ประมาณ 200 – 250 ตัว สามารถพบได้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติทับลาน
การอนุรักษ์เสือโคร่งในประเทศไทย
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน จัดตั้งขึ้นโดยกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature – WWF) เพื่อช่วยเหลือและอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ
เสือโคร่ง เป็นสัตว์ป่า ที่สำคัญในระบบนิเวศ เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ที่อาศัยอยู่ เนื่องจากเสือโคร่งต้องการใช้พื้นที่อาศัยในธรรมชาติที่มีขนาดกว้างขวาง และเหยื่อหลากหลายชนิด เพราะฉะนั้นการอนุรักษ์เสือโคร่ง ในวันสำคัญ 29 ก.ค. นี้ จะทำให้ทราบได้ว่าพื้นที่เหล่านั้น สัตว์ชนิดอื่นก็สามารถอาศัยอยู่ได้เช่นเดียวกับเสือโคร่ง
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เสือโคร่งใกล้สูญพันธุ์มาจากปัจจัย 3 อย่าง ได้แก่ การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย การถูกล่า และปริมาณของเหยื่อที่ลดลง
วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก 2565 ที่ตรงกับ วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม นี้ The Thaiger จึงขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านให้ตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ป่าชนิดนี้ และไม่ทำสิ่งใดที่เป็นอันตรายต่อป่าไม้ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งกันนะครับ