ปริศนาขุดพบ ตุ๊กตาหิน วัดพระแก้ว กว่า 100 ตัว ใช่ ‘ตุ๊กตาอับเฉา’ หรือไม่
ไขคำตอบ ตุ๊กตาหินโบราณ วัดพระแก้ว สมบัติฝังใต้ดินกว่า 100 ปี มูลค่าตีเป็นเงินไม่ได้ จะใช่ ตุ๊กตาอับเฉา หรือไม่
ข่าวขุดพบ ตุ๊กตาหินโบราณ สมบัติกว่า 100 ปี ฝังใต้ถนนข้างกำแพง วัดพระแก้ว มูลค่าตีเป็นเงินไม่ได้ โดยถูกขุดขึ้นมาในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ก่อนมีการนำมาบูรณะและได้จัดแสดงไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง จำนวน 33 ตัว
ตุ๊กตาหิน วัดพระแก้ว ซึ่งมีรายงานว่าพบทั้งหมดร่วม 130 ตัว ขุดพบขณะ การปรับปรุงเส้นทางเข้าชมวัดพระแก้วเมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2564 โดยมีการขุดด้านข้างกำแพงพระราชวังเพื่อวางท่อระบายน้ำ
ผศ.ดร.อานนท์ โพสต์ ตุ๊กตาหินวัดพระแก้ว อาจเป็น ตุ๊กตาอับเฉา หรือไม่ก็ได้
วันที่ 14 ก.ค.65 ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงเรื่องการค้นพบตุ๊กตาหินโบราณร่วม 100 ตัวที่ใต้ถนนข้างกำแพงแก้ววัดพระแก้วว่า
“การค้นพบตุ๊กตาหินโบราณร่วม 100 ตัวที่ใต้ถนนข้างกำแพงแก้ววัดพระแก้ว
สำนักพระราชวังซ่อมถนนบริเวณกำแพงแก้ววัดพระศรีรัตนศาสดารามฝั่งศาลหลักเมืองและกระทรวงกลาโหม เมื่อทำท่อระบายน้ำและขุดถนนพบตุ๊กตาหินโบราณที่ชำรุดนิดหน่อยนับร้อยตัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ขุดค้นและให้กรมศิลปากรบูรณะให้สภาพดีเยี่ยมดังเดิม ตุ๊กตาหินเหล่านี้น่าจะมาจากเมืองจีนเป็นหินอับเฉาถ่วงท้องเรือใบสำเภาที่เราใช้ค้าขายกับจีน ขาไปบรรทุกหนัก ขากลับมีแต่ของเบาเช่นแพรไหม ใบชา เลยต้องซื้อตุ๊กตาหินถ่วงท้องเรือกลับมากันเรือโคลงเคลง
ผมไปวัดพระแก้วมา เห็นตุ๊กตาหินใหม่เอี่ยมอ่องมาตั้งเพิ่มเต็มไปหมดรอบวัดพระแก้วราวหนึ่งร้อยตัวเลยถามเจ้าหน้าที่ ได้ความว่าทรงพระกรุณาให้กรมศิลปากรขุดค้นข้างกำแพงแก้ว แต่ยังอยู่ในรั้วพระบรมมหาราชวัง แล้วนำมาบูรณะและจัดแสดงในวัดพระแก้ว
อย่าได้นึกว่าเป็นของใหม่หรือทำเลียนแบบของโบราณ แต่เนื่องจากฝังดินมาเป็นร้อยปี การสึกกร่อนจะน้อยกว่าตุ๊กตาหินที่ตากแดดตากลมมาเป็นร้อยปีครับ
ขออภัยที่ไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดูนะครับ มีเยอะมากครับ เป็นร้อยตัวครับ
ปล. ขอเขียนเพิ่มเติมครับ
ตุ๊กตาหินที่ค้นพบใหม่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อาจจะเป็นอับเฉาหรือไม่เป็นอับเฉาก็ได้ครับ แต่ฝีมือช่างนั้นบอกแน่ชัดว่าเป็นฝีมือช่างจีน และมีอักษรจีนสลักไว้ว่าผลิตมาจากมณฑลกวางตุ้งและมณฑลกวางโจว ส่วนจะมาเป็นอับเฉาคือขนสินค้าไปขายแล้วซื้อหรือไปสั่งบรรทุกกลับมาก็เป็นไปได้ หรืออาจจะไม่ได้เป็นอับเฉาถ่วงท้องเรือสำเภามาก็ได้
ผมสันนิษฐานตามข้อมูลที่ผมรับทราบและมีอยู่ในเวลานั้น สมมุติฐานทางประวัติศาสตร์อาจจะเปลี่ยนไปได้เมื่อมีหลักฐานใหม่เพิ่มขึ้น สมมุติว่ามีหลักฐานว่าบรรทุกมาโดยสำเภาของไทยที่แต่งไปค้าขายก็จะกลายเป็นอับเฉาอย่างแม่นมั่น อันนี้ก็ต้องว่าไปตามหลักฐาน
ผมไม่ได้มีเจตนาจะหลอกคนอ่านแต่ประการใด แต่สมมุติฐานของผมอาจจะผิดก็ได้ครับผม
พอดีมีสำนักข่าวแห่งหนึ่งกล่าวตำหนิผม ผมคิดว่าในทางประวัติศาสตร์มันมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามหลักฐานที่ค้นพบ สิ่งที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนไว้หลายอย่างก็มีหลักฐานพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น เป็นเรื่องปรกติทางประวัติศาสตร์ที่ข้อสมมุติฐานหรือทฤษฎีอาจจะเปลี่ยนไปได้ครับ แต่ที่แน่ๆ ทั้งผมและกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่ได้มีเจตนาจะบิดเบือนหรือใช้หลักฐานปลอมแต่อย่างใดครับ”
เว็บไซต์ หน่วยราชการในพระองค์ เผยแพร่ ข่าวประชาสัมพันธ์ กรณี ขุดพบประติมากรรมหินสลัก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง
วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 เว็บไซต์ หน่วยราชการในพระองค์ เผยแพร่ ข่าวประชาสัมพันธ์และกิจกรรม กรณี ขุดพบประติมากรรมหินสลัก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง
เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ในการปรับปรุงเส้นทางเข้าชมภายในพระบรมมหาราชวัง บริเวณประตู มณีนพรัตน์ไปยังประตูสวัสดิโสภา ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างได้ขุดพบประติมากรรมหินสลักจำนวนมาก จึงได้ทำการเปิดการขุดค้นทางโบราณคดี จากหลักฐานพบว่าเป็นประติมากรรมรูปบุคคลหลากหลายเชื้อชาติ และสัตว์ในเทพนิยาย ซึ่งจารึกที่พบบนประติมากรรมหินสลักบางตัว ระบุเป็นภาษาจีน ว่าทำที่มณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางโจว
จากการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในเบื้องต้นพบว่า ประติมากรรมหินหลักเหล่านี้ปรากฏในภาพถ่ายเก่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดับตกแต่งอยู่โดยรอบพระอารามและมีการโยกย้ายในรัชสมัยต่อๆกันมา ซึ่งมีหลักฐานจากภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือทั้งในประเทศและต่างประเทศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ทำการอนุรักษ์ซ่อมแซมประติมากรรมหินสลัก และนำมาประดับในวัดพระศรีรัตนศาสดารามบริเวณตำแหน่งเดิมหรือใกล้เคียงตามหลักฐานที่ปรากฏ
- สำนักพระราชวัง ประกาศ เปิด เข้าชมพระบรมมหาราชวัง-วัดพระแก้ว 1 พ.ย. นี้
- วัดพระแก้วเปิดกลางคืน 1-6 ธันวาคม 63 ห้ามพลาดไหว้พระสักการะ
- เปิดเข้าชม พระบรมมหาราชวัง-วัดพระแก้ว 4 มิ.ย. นี้