กินแลนผิดกฎหมายไหม โทษเท่าไหร่ ตอบทุกข้อสงสัยของสัตว์ป่าคุ้มครองตัวนี้
คลายข้อสงสัย แลนกินได้หรือเปล่า กินแลนผิดกฎหมายไหม หลังดราม่าคนดังกินแลน หากแลนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจริง ถ้านำมากินเจอโทษเท่าไหร่ ดูเลย
ตอบคำถามที่หลายคนข้องใจ แลนกินได้หรือเปล่า กินแลนผิดกฎหมายไหม แลน ตะกวด ตัวเงินตัวทองหรือตัวเหี้ย ต่างกันอย่างไร ทุกข้อที่คุณข้องใจ The Thaiger จะมาไขให้กระจ่างกันค่ะ หลังเกิดดราม่าที่เป็นที่ถกเถียงว่า แลน ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหรือไม่ เราจะมาเปิดตำราพร้อมข้อกฎหมายอ้างอิงให้ดูกันจะ ๆ ไปเลย จะได้รู้ว่าคำตอบของเรื่องนี้จริง ๆ แล้วคืออะไรกันแน่
แลน คืออะไรกันแน่
แลน หรืออีกชื่อคือ ตะกวด มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Tree Monitor, Bengal Monitor, Clouded Monitor พบถิ่นที่อยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และพม่า เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีลักษณะคล้ายตัวเหี้ย แต่นิสัยจะดุน้อยกว่า มักจะอาศัยอยู่ตามต้นไม้รวมถึงใกล้แหล่งน้ำ เช่น ลำคลอง แต่แลนจะว่ายน้ำและดำน้ำไม่เก่งเหมือนตัวเหี้ย
หลายคนมักจะมองเห็นว่าแลนมีตัวสีเหลือง นั่นก็เพราะมันมีเกล็ดสีเหลืองปกคลุมอยู่ทั่วผิวสีเทาของมัน เมื่อมองผ่าน ๆ ทำให้คนเห็นว่ามันมีตัวสีเหลืองนั่นเอง
ธรรมชาติของแลน พวกมันจะกินสัตว์เล็กอื่นเป็นอาหาร เช่น ไก่ ปลา กบ หนู เขียด โดยสามารถกินได้หมด ทั้งของสดและของเน่า วัยโตเต็มที่จะมีอายุอยู่ที่ประมาณ 3 ปี ยังคงถือเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ต่ำ เนื่องจากไข่ฟักตัวง่าย และแม่แลนจะออกไข่ในฤดูฝนมากถึงครั้งละ 20 ฟอง
ถึงจะไม่เสี่ยงสูญพันธุ์ แต่ตะกวดหรือแลน ก็ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน ร่วมกับสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่น ๆ รวม 91 ชนิด เช่น งู กิ้งก่า เต่า ตะพาบ ตุ๊กแกป่า งูชนิดต่าง ๆ จระเข้ เป็นต้น ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ที่มีข้อกำหนดไว้ชัดเจนว่า ห้ามครอบครอง เลี้ยงดู กระทำการค้าสัตว์ป่าสงวนเหล่านี้ รวมถึงซากของมันโดยไม่ได้รับอนุญาต
กินแลน มีโทษอย่างไรบ้างตามกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า
แลน หรือ ตะกวด ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ดังนั้นจึงห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก เลี้ยงดู หรือครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กินแลนผิดกฎหมายไหม
เมื่ออ้างอิงจาก พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่าฉบับข้างต้นแล้ว การกินแลนก็อาจจะเข้าข่ายว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายได้ หากมีการกระทำการค้า จับซากของแลนมาชำแหละ ซึ่งรายละเอียดปลีกย่อยยังมีอีกมาก ดังนั้นท่านที่ต้องการความแน่ชัด สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงแจ้งเบาะแสได้ที่ กรมป่าไม้ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2561 4292 – 3 ต่อ 764 ให้บริการในวันและเวลาราชการ