24 เมษายน 2565 วันเทศบาล หลายคนอาจจะงง ๆ ว่ามีวันนี้ด้วย? เป็นวันเกี่ยวกับอะไร แล้วมีความสำคัญยังไงกับคนไทย วันนี้ The Thaiger จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวันเทศบาล ซึ่งตรงกับวันที่ 24 เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่มีขึ้นเพื่อให้ประชาชนชาวไทยทุกคนได้ระลึกถึงความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น ในรูปแบบของเทศบาล
โดยการเกิดขึ้นของเทศบาลนั้นนอกจากจะเป็นการแบ่งเบาภาระของทางรัฐบาล ในการดูแลประชาชนให้ทั่วถึงมากขึ้นแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการติดต่อกับทางภาครัฐอีกด้วย ซึ่งนอกจากการตระหนักถึงความสำคัญของการจัดตั้งเทศบาลแล้ว ในวันที่ 24 เมษายน วันเทศบาลนั้น ก็ยังเป็นเครื่องเตือนให้เหล่าพนักงานของเทศบาลเห็นถึงความสำคัญในการบริการประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนด้วย
24 เมษายน 2565 วันเทศบาล อีกหนึ่งวันสำคัญ ที่มีรากฐานมาจากประชาธิปไตย
“วันเทศบาล” มีประวัติเริ่มต้นมาจากการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ทางกระทรวงมหาดไทยก็ได้มีการกำหนดให้วันนี้ หรือวันที่ 24 เมษายนของทุกปี เป็นวันเทศบาล
ประวัติวันเทศบาล 24 เมษายน 2565 องค์กรพื้นฐานประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2441 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยในวันดังกล่าวพระองค์ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของไทย ให้มีความทันสมัยและเท่าทันนานาอารยประเทศมากยิ่งขึ้น โดยทรงจัดให้มี “การปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็นครั้งแรกในประเทศไทยในรูปแบบสุขาภิบาล ที่สุขาภิบาลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร หลังจากนั้นก็ได้มีการขยายการจัดตั้งสุขาภิบาลเพิ่มขึ้นตามท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย
และหลังจากในปี พ.ศ. 2475 ที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ก็ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 และได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล ภายใต้การนำของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งแนวคิดเรื่องการปกครองในระดับท้องถิ่นนั้น ก็ได้รับแรงสนับสนุนจากบุคคลสำคัญอย่าง “ปรีดี พนมยงค์” อีกด้วย จนกระทั่งได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 จนถึงปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บทบาทของเทศบาลนั้นนับได้ว่ามีความสำคัญต่อทั้งภาครัฐและภาคประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งเทศบาลนั้นมีฐานะเป็นตัวแทนของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยในการให้บริการสาธารณะต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในแต่ละท้องถิ่น
อาจกล่าวได้ว่าการมีอยู่เทศบาล ถือเป็นองค์กรขั้นพื้นฐานสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนเอง เหตุนี้เองจึงทำให้กระทรวงมหาดไทยมีการลงประกาศในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 กำหนดให้วันที่ 24 เมษายนของทุกปี เป็นวันเทศบาลนั่นเอง
เทศบาลในประเทศไทย แบ่งเป็นกี่ประเภท | วันเทศบาล 24 เมษายน 2565
เทศบาลในประเทศไทยนั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ขึ้นอยู่จำนวนประชากรและรายได้ของแต่ละเทศบาล ซึ่งในพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 9, 10, 11 มีการกำหนดขนาดของเทศบาลไว้ ดังนี้
มาตรา 9 เทศบาลตำบล
เทศบาลตำบล คือ ท้องถิ่นซึ่งมีการประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย
มาตรา 10 เทศบาลเมือง
เทศบาลเมือง คือ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลเมือง พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย
มาตรา 11 เทศบาลนคร
เทศบาลนคร คือ ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลนคร พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย
โครงสร้างของเทศบาล “สภาเทศบาล” | วันเทศบาล 24 เมษายน 2565
โครงสร้างของเทศบาลในแต่ละท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า “สภาเทศบาล” นั้น จะมีองค์ประกอบ ดังนี้
เทศบาลตำบล
เทศบาลตำบล ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 12 คน
เทศบาลเมือง
เทศบาลเมือง ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 18 คน
เทศบาลนคร
เทศบาลนคร ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 24 คน
ทั้งนี้ สภาเทศบาลประกอบไปด้วย ประธานสภาเทศบาล 1 คน และรองประธานสภาเทศบาล 2 คน นอกจากนี้ ในเทศบาลแต่ละแห่งจะมี “นายกเทศมนตรี” ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานในท้องที่เทศบาลนั้นทั้งหมด และปัจจุบันเทศบาลทุกประเภทมีฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง
วันเทศบาล 24 เมษายน มีขึ้นเพื่อให้ประชาชนและพนักงานของเทศบาลทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีอยู่ของเทศบาล อันเป็นองค์กรที่มีรากฐานมาจากระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แต่ชุมชน แต่ละท้องถิ่น ได้รับการพัฒนาและมีความเจริญก้าวหน้าเท่าเทียมกันทุกภาคส่วน
เรื่อง : โมทนา ม่วงเตี้ย
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล