“ป่าไม้” นับเป็นส่วนประกอบสร้างที่สำคัญของโลกใบนี้ ทว่าในปัจจุบันนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015-2020 ที่ผ่านมา ผืนป่า 10 ล้าน เฮกตาร์ ถูกทำลายจากการตัดไม้ทำลายป่า และในแต่ละปีป่าไม้ยังถูกทำลายด้วยแมลงศัตรูพืช ปีละ 35 ล้านเฮกตาร์ ในปี ค.ศ. 2015 ผืนป่าทั่วโลกราว 98 ล้านเฮกตาร์ถูกทำลายด้วยไฟป่า
ด้วยเหตุที่ป่าไม้ถูกทำลายมากขึ้นในแต่ละปีนี้เอง ส่งผลให้ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของโลกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง รวมไปถึงตัวมนุษย์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยการมีอยู่ของป่าไม้เพื่อการดำรงชีวิตก็กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตที่เกิดจากการทำลายป่าด้วยเช่นกัน
ดังนั้นทุกภาคส่วนและทุกองค์กรในโลกใบนี้จึงเริ่มตระหนักถึงปัญหาที่อาจก่อให้เกิดการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์มนุษย์ และได้ร่วมมือร่วมใจกันออกมารณรงค์เกี่ยวกับการปกป้องป่าไม้ โดยถือโอกาสใน “วันป่าไม้โลก” 21 มีนาคมของทุกปี สร้างแคมเปญเพื่อเชิญชวนให้ทุกคนเล็งเห็นถึงความสำคัญของต้นไม้และพรรณพืชรวมถึงผืนป่าทุกแห่งทั่วโลก
21 มีนาคม 2566 ‘วันป่าไม้โลก’ สำนึกรักผืนป่า แหล่งกำเนิดสรรพชีวิต
ประวัติ ‘วันป่าไม้โลก’ ทำไมต้อง 21 มีนาคม?
“วันป่าไม้โลก” (World Forestry Day) หรือ “วันป่าไม้สากล” (International Day of Forests) เกิดขึ้นจากการประชุมสมัชชาทั่วไปของ องค์การสันนิบาตยุโรปด้านการเกษตร หรือ European Cinfederation of Agriculture ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 23 ในปี พ.ศ. 2514 นอกจากนั้นในปีเดียวกัน องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ก็ยังได้ประกาศสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ด้วยความคาดหวังของที่จะทำให้ประชาชนเกิดความตระหนัก ถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ จนเกิดการผลักดันให้วันที่ 21 มีนาคม กลายเป็นวันป่าไม้โลก
สำหรับเหตุผลในการเลือกวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี เป็นวันป่าไม้โลกนั้น เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นตรงกันในวันนั้น คือ “วันวสันตวิษุวัต” หรือที่เรียกในอีกชื่อหนึ่งคือ “วันราตรีเสมอภาค” โดยในวันนี้พระอาทิตย์จะอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกอย่างพอดิบพอดี ทำให้เวลากลางวันยาวเท่ากับเวลากลางคืน
ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “ศารทวิษุวิตของเขตซีกโลกใต้” หมายความว่า เขตซีกโลกใต้ทั้งเขตจะเกิดจุดที่มีกลางวันและกลางคืนเท่ากัน เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง อีกปรากฏการณ์หนึ่งคือ “วสันตวิษุของซีกโลกเหนือ” ซึ่งเป็นสัญญาณการมาถึงของฤดูใบไม้ผลิ ด้วยเวลากลางวันกลางคืนที่มีลักษณะเดียวกัน ซึ่งปรากฏการณ์นี้ในหนึ่งปีเกิดขึ้นได้แค่ 2 ครั้งเท่านั้น
ดังนั้น องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงได้เลือกให้วันดังกล่าวเป็นวันป่าไม้โดยจุดประสงค์ในการจัดตั้งเป็นวันสำคัญนั้น ก็เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การป้องกัน (Protection) ผลิตผลป่าไม้ (Production) การนันทนการ (Recreation) ให้ทุกคนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของป่าไม้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านประโยชน์หรือคุณค่าต่าง ๆ เช่น การเป็นแหล่งต้นน้ำ และทำให้อากาศบริสุทธิ์ เป็นต้น
กิจกรรมวันป่าไม้โลก 21 มีนาคม 2566
สำหรับประเทศไทยก็ได้มีนโยบายที่มักจะจัดขึ้นในวันป่าไม้โลก เช่น การปลูกป่า การเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ในป่า การป้องกันการบุกรุกทำลายป่า และใช้ทรัพยากรป่าไม้ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
โดยกิจกรรมที่ส่งผลเป็นรูปธรรมที่มักจัดแสดงกันภายในวันนี้ก็คือการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับป่าไม้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมได้เกิดจิตสำนึกในการรักษาและฟื้นฟูป่าไม้ รวมถึงกิจกรรมรณรงค์ปลูกป่าให้ประชาชนออกมาร่วมกันปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว
และในวันป่าไม้โลก 2566 ทางกรมป่าไม้ก็ได้จัดกิจกรรมเสวนาด้านป่าไม้ขึ้นในหัวข้อต่าง ๆ ภายใต้ธีม “ป่าไม้และสุขภาพ” (Forest and Health) บรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านทรัพยากรป่าไม้จากหน่วยงานต่าง ๆ ณ สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ บางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่ เสวนาด้านป่าไม้ ในหัวข้อ
“Forest and health (ป่าไม้และสุขภาพ)”