วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก 3 มีนาคม ร่วมพิทักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธ์ุ
พาทุกท่านมารู้จักกับ “วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก” (World Wildlife Day) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม 2566 บอกเล่ากิจกรรมที่สำคัญ รวมถึงที่มาและความหมายของวันสำคัญนี้ ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน งานนี้คนที่ชอบอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติและผู้ที่ชื่นชอบในการชื่นชมความงามของสัตว์ป่า ไม่ควรพลาดเลย
วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก สะท้อนสังคม ให้ตระหนักถึงธรรมชาติ
หลายคนที่ได้ยินชื่อวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าและพืชป่า คงสามารถตระหนักได้ทันทีว่าสิ่งที่เรากำลังให้ความสำคัญ คือ ทรัพยากรทางป่าไม้และสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่คนทั้งโลกต่างใช้ด้วยกันทั้งสิ้น
ประวัติวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก
วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) กำหนดขึ้นจากมติในที่ประชุมของการประชุมภาคีอนุสัญญาครั้งที่ 16 หรือ CoP16 ในปี พ.ศ. 2556 ที่กรุงเทพมหานครฯ เมืองหลวงของประเทศไทย
โดยได้เสนอให้วันสำคัญนี้ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี เนื่องในโอกาสที่ตรงกับ “การเซ็นสัญญารับรองการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์” หรือ ไซเตส (CITES) เป็นครั้งแรกในวันเดียวกันนี้ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ความสำคัญของ CITES มีไว้เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประเทศสมาชิกว่า การค้าระหว่างประเทศที่มีผลผลิตและทรัพยากร ที่มาจากสัตว์ป่าและพืชป่าจะไม่ส่งกระทบต่อระบบนิเวศหลักของธรรมชาติในประเทศนั้น ๆ อาทิ ไม่กระทบต่อการดำรงอยู่ของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ นั่นเอง
ต่อมาวันสำคัญนี้ยังได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 68 ในปีเดียวกัน (พ.ศ. 2556) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ หรือที่รู้จักในนามองค์กร UN นั่นเอง
ความสำคัญของวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก
วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลกนั้น มีไว้เพื่อให้เราได้รู้สึกยินดีและเฉลิมฉลองให้กับความสวยงามของสัตว์ป่าและพืชป่า รวมไปถึงการตระหนักความสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์ป่าให้ปลอดภัยจากการถูกทำลายจากอาชญากรรม เพื่อจุดประสงค์ในการค้าของเถื่อนอีกด้วย
กิจกรรมที่นิยมทำกันในวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก
หลังจากที่ได้รับการประกาศในเป็นวันสำคัญระดับโลก หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระดับสหประชาชาติ หรือจะเป็นองค์กรในระดับภูมิภาครวมไปถึงอนุภูมิภาค ก็ได้รณรงค์ให้เกิดกิจกรรมที่ส่งเสริมจิตสำนึก และความเข้าใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่า รวมถึงพืชป่ามากขึ้น
กิจกรรมที่ทำในวันนี้ เช่น กิจกรรมปลูกป่า การจัดการสัมมนาวิธีการ ตลอดจนไปถึงกิจกรรมสำหรับเด็กอย่างการวาดรูปสัตว์ป่าเพื่อประกวด และทำกิจกรรมทำหน้ากาก ทำของเล่นสำหรับเด็ก ๆ ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้มีใจอนุรักษ์ธรรมชาติ
หน่วยงานภาครัฐในไทยที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมภายในวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก
สำหรับประเทศไทยหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบและดูแลการจัดกิจกรรมในวันสำคัญนี้คือ
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
หน่วยงานเหล่านี้ถือเป็นหน่วยงานหลักในการรักษาสัญญารับรองการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES รวมกับหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ จัดกิจกรรมขึ้นในแต่ละปี
โดยอาจมีการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์แก่การอนุรักษ์ป่าไม้มากขึ้น โดยยังคำนึงถึงวิถีชีวิตของคนในพื้นที่อีกด้วย เช่นการอนุญาตให้ชาวเผ่าในพื้นที่ต่าง ๆ สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้
รวมถึงการลาดตระเวนเชิงคุณภาพเพื่อป้องกันการลักลอบเข้ามาล่าสัตว์ และการค้าของเถื่อนอย่างเต็มความสามารถ เพื่อเพิ่มคุณภาพในการอนุรักษ์พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกเหนือจากนั้นยังจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของการเข้าไปทำลายระบบนิเวศในป่า เช่น การยกตัวอย่างของโรคโควิด-19 ที่มีส่วนที่เกิดจากการที่มนุษย์นำสัตว์ป่าจากธรรมชาติมารับประทานจนกลายเป็นโรคติดต่อที่ระบาดเกิดขึ้น เป็นต้น
โดยในปี 2566 วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลกมาพร้อมกับแนวคิดหลัก “Partnerships for Wildlife Conservation” ตรงกับวาระครบรอบ 50 ปี ของการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)
ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา อนุสัญญาไซเตสเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมโยงกลุ่มพันธมิตรทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน และสร้างการมีส่วนร่วมที่สำคัญต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่าและความหลากหลายทางชีวภาพที่ยั่งยืนอีกด้วย
ตราบใดที่มนุษย์ยังดำรงอยู่บนโลก สัตว์ป่าและพืชป่าคือทรัพยากรที่แสนล้ำค่าซึ่งเราควรรักษาไว้ให้ยั่งยืน หากไม่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญเหล่านี้ การสูญพันธุ์ของสัตว์และพืชก็ย่อมหมายถึงหายนะของมนุษย์อย่างแน่นอน.
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมประชาสัมพันธ์