ข่าว

ครม. ผ่าน หลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน โควิด-19 ฉบับที่ 7

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำการผ่าน หลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน โควิด-19 ฉบับที่ 7 เพิ่มรายการตรวจวินิจฉัยด้วย ATK ค่าบริการวิชาชีพสำหรับกรณี HI, CI และ Hotel Isolation

หลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน, โควิด-19 – วันที่ 12 ม.ค. 65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19 (ฉบับที่7)

Advertisements

โดยมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขรายการซ้ำซ้อน การแก้ไขลำดับ/รหัส/หน่วยของรายการ รวมถึงการปรับแก้อัตราค่าบริการบางรายการโดยเฉพาะรายการค่าตรวจ Real time PCR การเพิ่มรายการค่าตรวจด้วย ATK เพิ่มค่าบริการวิชาชีพ กำหนดค่าห้องพัก Hospitel เพื่อให้สอดคล้องตามสถานการณ์และแนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิด-19

สำหรับรายการที่มีการยกเลิก แก้ไข หรือเพิ่มรายการ มีรายละเอียดและกำหนดการเริ่มมีผลบังคับดังต่อไปนี้

1. ยกเลิกรายการซ้ำซ้อนในหมวดที่ 3 ค่ายา จำนวน 2 รายการ ได้แก่ COLISTIN (บริษัท มิลลิเมด จำกัด) และ UTOIN-250 (บริษัท ยูเมด้า จำกัด)

เนื่องจากมีความซ้ำซ้อนกับรายการในหลักเกณฑ์ฉบับที่ 5 และราคาที่ถูกพิจารณาใหม่ มีความเป็นปัจจุบันมากกว่า โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเป็นต้นไป

2. แก้ไขอัตราค่ายา ALUMED (ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร) จากเดิม 2,917 บาท เป็น 18.50 บาท

เนื่องจากมีข้อผิดพลาดในขั้นตอนการจัดทำเอกสาร โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. 2563

Advertisements

3. ปรับปรุงอัตราค่าตรวจวินิจฉัยทางเทคนิคการแพทย์และพยาธิวิทยา ได้แก่ รายการ Covid-19 Real time PCR 2 ยีนส์ (เหมาจ่าย) จากเดิม 2,250 บาท ปรับเป็น 1,300 บาท และ Covid-19 Rael time PCR 3 ยีนส์ (เหมาจ่าย) จากเดิม 2,550 บาท ปรับใหม่เป็น 1,500 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบเป็นต้นไป

4. เพิ่มรายการค่าตรวจวินิจฉัยทางเทคนิคการแพทย์และพยาธิวิทยา

เนื่องจากเดิมไม่ได้กำหนดไว้ ได้แก่ การตรวจคัดกรอง Covid-19 ด้วย Ag Test Kit ด้วยวิธี Chromatographic immunoassay จ่ายตามจริงไม่เกิน 300 บาทต่อครั้ง และด้วยวิธี FIA จ่ายตามจริง ไม่เกิน 400 บาทต่อครั้ง โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบเป็นต้นไป

เพิ่มค่าบริการวิชาชีพเนื่องจากเดิมไม่ได้กำหนดไว้ ได้แก่ ค่าบริการเหมาจ่ายสำหรับการดูแลให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 (ค่ายาพื้นฐาน ค่าบริการพยาบาลทั่วไป ค่าติดตามอาการและค่าให้คำปรึกษาของแพทย์ รวมทั้งค่าอาหาร 3 มื้อ) สำหรับกรณี Home Isolation, Community Isolation และ Hotel Isolation (ซึ่งกรณีนี้รวมค่าห้องพักด้วย) 1,000 บาทต่อวัน และเพิ่มค่าบริการเหมาจ่ายการใช้ยาสมุนไพรฟ้าทลายโจร รวมค่ายาและค่าบริหารจัดการยา 300 บาทต่อราย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ มีการแก้ไขลำดับและรหัสรายการ ให้การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวอย่างน้ำลายแบบรวมตัวอย่าง (Pooled saliva samples) ราคา 460 บาทต่อเทส และด้วยตัวอย่างป้ายหลังโพลงจมูกและป้ายลำคอแบบรวมตัวอย่าง (Pooled noasopharyngeal and throat swab samples) ราคา 575 บาทต่อเทส โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. 2564

5. แก้ไข “หน่วย” ในหมวดที่ 12 ค่าบริการวิชาชีพ ข้อ 12.8 ค่าบริการตรวจวินิจฉัยและทำหัตถการโดยแพทย์ จำนวน 31 รายการ โดยกำหนดให้หน่วยเป็น “ครั้ง” เนื่องจากเดิมไม่ได้กำหนดไว้ โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564

6. ปรับปรุงรายการค่าห้องพัก (กรณี Hospitel) ในบัญชีและอัตราแนบท้ายหลักเกณฑ์ฯ เป็นเหมาจ่าย 1,000 บาทต่อวัน (พร้อมอาหาร 3 มื้อ) มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเป็นต้นไป โดยส่วนนี้เป็นปรับปรุงจากเดิมที่ใช้ราคาเดียวกับรายการตามหลักเกณฑ์ฯ (ฉบับที่ 1) ค่าห้องแยกโรค อัตรา 1,500 บาท/วัน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นอัตราเดียวกันกับกรณี Hotel Isolation ที่กำหนดในราคาเหมาจ่าย 1,000 บาทเช่นเดียวกัน

 

แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย

สามารถติดตามข่าวโควิด-19 เพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวโควิด-19

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button