ข่าวเศรษฐกิจ

ครม. เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. ประกันชีวิต / ประกันวินาศภัย ใหม่

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบภายใน ร่าง พ.ร.บ. ประกันชีวิต / ประกันวินาศภัย ฉบับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมใหม่จากที่มีการบังคับใช้งานในปัจจุบัน

(31 ส.ค. 2565) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบภายในร่างพระราชบัญญัติ (ร่าง พ.ร.บ.) ประกันชีวิต / ประกันวินาศภัย รวม 2 ฉบับ ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากกฎหมายปัจจุบันที่ใช้งานอยู่ในเวลานี้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเสริมแกร่งผู้ประกอบการให้มีเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงิน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ สาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายปัจจุบันที่บังคับใช้ คือ พ.ร.บ. ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ครอบคลุมทั้งประเด็นการกำกับควบคุมธุรกิจประกันภัย การดำรงเงินกองทุน คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการ รวมทั้ง การแก้ไขเพิ่มเติมบทลงโทษและการเปรียบเทียบคดีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของบริษัท มีเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงิน ส่งเสริมกระบวนการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินของบริษัทให้เป็นรูปธรรม ลดการใช้ดุลยพินิจของนายทะเบียน

ทั้งนี้ มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ประกันชีวิต พ.ศ. 35 และ พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ. 35 เช่น

1) การกำกับดูแลบริษัทประกันภัย อาทิ กำหนดเพิ่มเติมให้กรรมการของบริษัทให้รวมถึง ผู้จัดการสาขา และ คณะกรรมการบริหารของบริษัทประกันชีวิตของไทยและบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตในไทย ให้เป็นไปตามมาตรการเดียวกัน

2) การดำรงเงินกองทุน เช่น การดำรงเงินกองทุนเพื่อเป็นหลักประกัน ในการประกอบธุรกิจของบริษัทและความน่าเชื่อถือของผู้เอาประกันและธุรกิจประกันภัย โดยบริษัทต้องดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่คณะกรรมการกำหนดและคณะกรรมการมีอำนาจกำหนดให้บริษัทดำรงเงินกองทุนเพิ่มหากพบว่าบริษัทมีความเสี่ยงสูง หรือคาดว่าจะมีความเสี่ยงสูงในอนาคต

3) กระบวนการในการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินของบริษัทให้เป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มความมั่นคงในการประกอบธุรกิจให้มีเสถียรภาพ เช่น เมื่อปรากฏว่าบริษัทมีฐานะ หรือการดำเนินงานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน นายทะเบียนมีอำนาจสั่งแก้ไขฐานะการดำเนินงาน สั่งห้ามขยายธุรกิจ สั่งเพิ่มทุน/ลดทุน สั่งถอดถอนกรรมการ และเมื่อบริษัทมีเงินกองทุนต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ยังสามารถเข้าแทรกแซงเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุน ทั้งการสั่งหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และ/หรือสั่งปิดกิจการ ได้

4) แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษและการเปรียบเทียบคดีให้สอดคล้องกับสภาวการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลเช่น แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องการเปรียบเทียบ โดยกำหนดให้สามารถเปรียบเทียบปรับได้ทุกความผิดเพื่อจะได้ไม่ต้องส่งดำเนินคดี ช่วยลดการนำคดีขึ้นสู่ศาล เว้นแต่ความผิดที่มีผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย และประชาชนในวงกว้าง

รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงผลกระทบเชิงบวกจากร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับว่า นอกจากจะส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยมีเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงิน ระบบงานและบุคลากรมีความพร้อม มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับธุรกิจประกันภัยของต่างประเทศที่สำคัญประชาชนผู้เอาประกันภัยเกิดความเชื่อมั่นในธุรกิจประกันภัยมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย

สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button