เทคโนโลยี

5 องค์กรหลายภาคส่วนผนึกกำลังตั้ง สมาพันธ์ปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย

5 องค์กรรัฐ-เอกชน-ประชาสังคม ผนึกกำลังตั้ง สมาพันธ์ปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย หวังสร้างแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์กลางของไทยให้ทุกภาคส่วนใช้งานได้ ยกระดับประเทศสู่อุตสาหกรรมใหม่

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานร่วมกับ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดโครงการ Super AI Engineer Saeson 2 พิธีลงนาม สมาพันธ์ปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AI Thailand Consortium) และพิธีมอบเหรียญรางวัลผู้มีความสามารถดีเด่นโครงการ Super AI Engineer Season 1 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัด อว.

ทั้งนี้ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การพัฒนาบุคลากรและทรัพยากรด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย ว่า ในทุกปี ประเทศไทยมีนโยบายเศรษฐกิจและแผนกลยุทธ์ของชาติที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งจากของบุคลากร และองค์กรภายใน มีการเตรียมพร้อมที่จะขับเคลื่อนประเทศให้สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และเชื่อมระหว่างเศรษฐกิจภายในกับเศรษฐกิจโลก ถือได้ว่าเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเติบโตทางเศรษฐกิจโดยการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำงาน

ซึ่งความเข้มแข็งภายในนี้ จะต้องสร้างขึ้นจากการยกระดับนวัตกรรม ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งถือเป็นศาสตร์ทางดิจิทัลที่สำคัญ ที่หลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างให้ความสำคัญและนำมาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ที่วันนี้ได้เกิดการรวมตัวกันของทุกภาคส่วนในการจัดตั้งสมาพันธ์ปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทยหรือ AI Thailand Consortium ที่ประกอบไปด้วย 5 องค์กร ได้แก่

  • สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. ในฐานะองค์กรภาครัฐ
  • ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในฐานะองค์กรภาคการวิจัย
  • สมาคมสภาคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเทศไทย (CITT) ในฐานะองค์กรภาคการศึกษา
  • สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) ในฐานะองค์กรภาคเอกชน
  • สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคม

เพื่อสร้างและบริหารจัดการทรัพยากรด้านปัญญาประดิษฐ์ร่วมกัน โดยมุ่งเน้นการจัดทำแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์กลางของประเทศไทย (AI Thailand Platform) การสร้างทรัพยากรให้กับประเทศเพื่อใช้งานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการสร้างอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทยในอนาคต

รมว.อว. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ทางสมาพันธ์ฯ ได้สร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม อาทิ โครงการปัญญาประดิษฐ์สำหรับทุกคน หรือ AI for All ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาบุคลากรในทุกระดับชั้นให้มีความสามารถพิเศษด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือโครงการสุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer) ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากหลากหลายวงการ หลากหลายวัย โดยในปีนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนถึง 5,400 คน มากกว่าปีที่แล้วถึง 2.5 เท่า ถือได้ว่าเป็นการสร้างโอกาสที่เท่าเทียม และเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการพัฒนาผู้มีความสามารถ และนำไปสู่การสร้างชุมชนนักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างแท้จริง

 

แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย

สามารถติดตามข่าวเทคโนโลยีเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเทคโนโลยี

 

 

Thaiger deals

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button