ข่าว

สปสช. เผยเวลาแจก ชุดตรวจโควิด-19 ATK ฟรี 8.5 ล้านชุด เริ่มวันที่ 16 ก.ย.

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำการเปิดเผยช่วงเวลาเริ่มดำเนินการแจก ชุดตรวจโควิด-19 ATK แบบฟรี จำนวน 8.5 ล้านชุด โดยดำเนินภายในวันที่ 16 ก.ย. 2564

วันนี้ (7 ก.ย. 2564) – สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำการประกาศถึงการเตรียมพร้อมดำเนินการแจก ชุดตรวจโควิด-19 ATK แบบฟรี จำนวน 8.5 ล้านชุด โดยจะเริ่มภายในวันที่ 16 ก.ย. 2564

ซึ่งเนื้อหาที่ประกาศออกมานั้นมีด้วยกันดังนี้

สปสช.แจกชุดตรวจ ATK ฟรี กระจาย 8.5 ล้านชิ้น ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษา (สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) ตรวจโควิดด้วยตนเอง เพื่อป้องกันควบคุมโรค รู้เร็ว รักษาเร็ว ลดการระบาดโควิด-19 แจกคนละ 2 ชุด ห่างกัน 5 วัน ดีเดย์ 16 ก.ย.2564 เป็นต้นไป

การแจกชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 2 รูปแบบ ดังนี้

  • รูปแบบที่ 1 แจก ATK ณ ชุมชนแออัดและตลาด : ผู้ประสานงานที่ชุมชนกำหนด หรือ อสม., อสส. ลงทะเบียนรับ ATK กับศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) กรณีอยู่ในพื้นที่ กทม. ส่วนต่างจังหวัด ผู้นำชุมชนลงทะเบียนรับ ATK กับหน่วยบริการในพื้นที่ เช่น รพ.สต. หรือ รพ.ใกล้ชุมชน
    • กลุ่มเป้าหมาย
      1. ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 โรค (ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด)
      2. ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการติดเชื้อ (มีไข้ ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจหอบ หายใจลำบาก)
      3. ผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ติดเชื้อโควิด
      4. ผู้ที่ทำงานประสานงานในชุมชน
    • ขั้นตอน
      1. ผู้ประสานงานที่ชุมชนกำหนดฯ แจก ATK ให้กลุ่มเป้าหมายคนละ 2 ชุด
      2. ประชาชนที่ได้รับแจก ยืนยันตัวตนผ่านแอปเป๋าตัง กรณีไม่มีสมาร์ทโฟน ทางผู้ประสานงานฯ จะยืนยันตัวตนให้
      3. กลับไปตรวจโควิดด้วยตนเองที่บ้าน
      4. แจ้งผลตรวจให้ผู้ประสานงานฯ รับทราบ หากผลเป็นลบ แนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโควิด-19 และตรวจซ้ำอีกครั้งห่างกันครั้งละ 5 วัน
      5. หากผลเป็นบวก (ติดเชื้อโควิด-19) ผู้ประสานงานจะลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน ผู้ติดเชื้อจะได้รับการจับคู่กับหน่วยบริการใกล้บ้านเพื่อดูแลรักษาที่บ้านตามมาตรฐาน กรณีจังหวัดนั้นยังไม่มีระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน จะเข้าสู่ระบบการรักษากับหน่วยบริการต่อไป
      6. กรณีมีอาการ แพทย์พิจารณาสั่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ติดเชื้อ ผู้ประสานงานฯ นำไปส่งให้ผู้ติดเชื้อในชุมชน
  • รูปแบบที่ 2 แจกที่หน่วยบริการ (รพ. รพ.สต. ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) รวมถึง คลินิก และร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ) ในพื้นที่สีแดง ผ่านแอปเป๋าตัง เมนู ฟรี ชุดตรวจโควิด (ระบบจะขึ้นวันที่ 16 ก.ย.64)
    • ขั้นตอน
      1. ประชาชนที่ต้องการได้รับแจกชุดตรวจ ต้องกรอกแบบคัดกรองในแอปเป๋าตัง โดยเข้าไปที่เมนู รับชุดตรวจโควิด-19 ฟรี
      2. ทำแบบประเมินก่อนรับชุดตรวจโควิด-19 ตอบคำถาม 3 ข้อ
        • มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ตาแดง ผื่น ถ่ายเหลว
        • มีประวัติพักอาศัยหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาดหรือสถานที่ที่พบผู้ติดเชื้อในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
        • มีสมาชิกในครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือเดินทางร่วมยานพาหนะกับผู้ติดเชื้อโควิด
      3. หากผลประเมินพบว่า คุณสามารถรับชุดตรวจโควิด-19 ได้ ให้คลิกที่เมนู หน่วยบริการใกล้ฉัน เลือกหน่วยบริการที่จะไปรับชุดตรวจ โทรประสานเพื่อไปขอรับหรือให้ผู้อื่นไปรับที่หน่วยบริการ หน่วยบริการจะจ่ายชุดตรวจ ATK ให้จำนวน 2 ชุด สำหรับการตรวจ 2 ครั้ง กรณีผลเป็นลบ ตรวจซ้ำอีกครั้งห่างกันครั้งละ 5 วัน
      4. ก่อนรับชุดตรวจ ATK ต้องยืนยันตัวตนด้วยการสแกน QR Code ที่หน่วยบริการส่งให้ ผ่านแอปเป๋าตัง เมนู สแกน QR เพื่อรับชุดตรวจ
      5. ตรวจโควิดด้วยตนเองที่บ้าน พร้อมบันทึกผลตรวจผ่านแอปเป๋าตัง เลือกเมนูบันทึกผลตรวจ หากผลเป็นบวก เลือกเมนูลงทะเบียนเข้ารับการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนต่อไป กรณีจังหวัดนั้นยังไม่มีระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน จะเข้าสู่ระบบการรักษากับหน่วยบริการต่อไป
    • กรณีไม่มีมือถือสมาร์ทโฟน สามารถไปขอรับได้ที่ รพ., รพ.สต., ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ทางเจ้าหน้าที่จะทำการคัดกรองและยืนยันตัวตนให้
    • กรณีไปขอรับที่คลินิกและร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับผู้ที่มีมือถือสมาร์ทโฟนเท่านั้น

ชุดตรวจโควิด-19 ATK

 

แหล่งที่มาของข่าว : Facebook Page – สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

สามารถติดตามข่าวโควิด-19 เพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวโควิด-19

 

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button