ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ ราคาสินค้าเกษตร เดือนกุมภาพันธ์ 2564
ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. ได้ทำการคาดการณ์ในส่วนของ ราคาสินค้าเกษตร ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 : หอมมะลิ, ข้าวเหนียว, มันสำปะหลัง และหมูมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้การระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัส โควิด-19 ในประเทศไทยและการเข้าสู่ช่วงเทศกาลวันตรุษจีน ส่งผลให้ ราคาสินค้าเกษตร เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และสุกร มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า น้ำตาลทรายดิบ และกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาปรับลดลง
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ ราคาสินค้าเกษตร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่
- ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 12,104 – 12,276 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 3.09 – 4.55 เนื่องจากราคาส่งออกข้าวหอมมะลิไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งขัน ทำให้ประเทศคู่ค้ามีการนำเข้าข้าวหอมมะลิไทยมากขึ้น
- ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 11,073 – 11,721 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 3.95 – 10.04 เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูการเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงและมีความต้องการใช้ข้าวเหนียวเพื่อทำขนมไหว้เจ้าเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 8.15 – 8.19 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50 – 1.00 เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีน้อย ขณะที่ความต้องการใช้ยังขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศและการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 53.85 – 54.15 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.94 – 1.50 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำยางพาราข้นเพื่อนำไปผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอนและเกิดการกลายพันธุ์ ขณะที่ปริมาณยางพาราออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการ และราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
- มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.03-2.08 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50 – 2.97 เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนด้านความต้องการของโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และมาตรการส่งเสริมการใช้เอทานอลภายในประเทศที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น
- ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 6.80 – 6.95 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.57 – 2.72 เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ลดลง ประกอบกับการคาดการณ์ว่าแนวโน้มการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่จะเริ่มคลี่คลาย และมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานทดแทน (ไบดีเซล) ในภาคการขนส่งเพิ่มขึ้น
- สุกร ราคาอยู่ที่ 76.39-77.03 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.95 – 2.80 เนื่องจากการเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน ทำให้ความต้องการบริโภคสุกรเพิ่มขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับมีการประกาศจากภาครัฐเรื่องเปิดการเรียนการสอนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 หลังปิดการเรียนชั่วคราวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้น
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่
- ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,827 – 8,856 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.28 – 1.72 เนื่องจากปัญหาการล็อกดาวน์ของท่าเรือในประเทศคู่ค้าบางประเทศ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เพื่อใช้การส่งออกข้าวทางเรือ ส่งผลให้ประเทศคู่ค้ามีการปรับแผนการซื้อข้าวเท่าที่จำเป็น
- น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 15.87 – 16.12 เซนต์/ปอนด์ (10.51 – 10.68 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.00 – 3.50 เนื่องจากคาดการณ์ว่าค่าเงินเรียลของประเทศบราซิลจะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศบราซิลส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น และยังมีความกังวลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วง ไตรมาสแรก ที่อาจจะทำให้การบริโภคน้ำตาลทั่วโลกลดลง 2 – 3 ล้านตัน ส่งผลให้นักลงทุนและนักเก็งกำไร ทำการขายตั๋วซื้อน้ำตาล
- กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 132.15 – 136.15 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 4.79 – 7.59 เนื่องจากความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ความต้องการในประเทศยังคงชะลอตัวจากภาคการท่องเที่ยวที่ซบเซา ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ทำให้ประชาชนจับจ่ายซื้อของโดยเฉพาะไก่สดและเนื้อหมู ส่งผลให้ความต้องการบริโภคกุ้งลดลง
แหล่งที่มาของข่าว : Facebook Page – สถานีข่าวกระทรวงการคลัง
สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ
- ธ.ก.ส. พักหนี้ พื้นที่เสี่ยง และเปิด สินเชื่อฉุกเฉิน แก่ เกษตรกร 29. ม.ค.นี้
- ธ.ก.ส. เป็นอันดับ 3 ในการประเมิน ‘แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม ประเทศไทย’