ประวัติ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ความเป็นมาของสัญลักษณ์ประชาธิปไตย
ประวัติ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ความเป็นมาของสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตย หลัง 2475
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานที่สำคัญอันแสดงถึงสัญลักษณ์ประชาธิปไตยในประเทศไทย ความเคลื่อนไหว การชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องประชาธิปไตยก็เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ เช่น 14 ตุลา 16 พฤษภาทมิฬ 2535 การชุมนุมของ นปช ในปี 2553
ที่ตั้งของ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อยู่บริเวณวงเวียนที่เป็นจุดบรรจบของ ถนนราชดำเนินกลางกับถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร จุดมุ่งหมายของการสร้างคือเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 2475 ที่ประเทศไทยปฏิวัติจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย
ประวัติ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ตัวอนุสาวรีย์เริ่มสร้างขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ภายใต้งบประมาณก่อสร้าง 250,000 บาท ออกแบบสถาปัตยกรรมหลวงปุ่ม มาลากุล โดย อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง สิทธิเดช แสงหิรัญ เป็นผู้ช่วยปั้นอนุสาวรีย์
ตรงกลางด้านบนของอนุสาวรีย์เป็นสมุดไทยวางอยู่บนพานแว่นฟ้า สื่อถึงรัฐธรรมนูญ
รู้หรือไม่ ความสำคัญอีกอย่างของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคือ เป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของกรุงเทพมหานครและประเทศไทยอีกด้วย
โครงสร้างของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รูปหล่อลอยตัว ประกอบด้วยรูปเล่มรัฐธรรมนูญในสมุดไทย ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า สร้างด้วยทองแดง มีความสูง 3 เมตร หนัก 4 ตัน ตั้งบนฐานรูปทรงกลมด้านบนโค้งกลม ลานอนุสาวรีย์ยกสูงมีบันไดโดยรอบ รอบนอกลานอนุสาวรีย์มีครีบทรงแบน อยู่ 4 ทิศ ที่โคนครีบ มีภาพแกะสลักลายปั้นนูน และมีรั้วเตี้ย ๆ กั้นโดยรอบลานอนุสาวรีย์ รั้วนี้ใช้ปืนใหญ่โบราณจำนวน 75 กระบอก ฝังดินโผล่ท้ายกระบอกขึ้นมา เป็นเสา คล้องโซ่เชื่อมต่อกัน
ครีบ 4 ด้าน สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร มีรัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พานทูนฉบับรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดป้อม กลางตัวอนุสาวรีย์ สูง 3 เมตร หมายถึง เดือน 3 หรือ เดือนมิถุนายน (ขณะนั้นนับเมษายนเป็นเดือนแรกของปี) ตรงกับเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยนั้น และหมายถึง อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ภายใต้รัฐธรรมนูญ (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ)
ปืนใหญ่จำนวน 75 กระบอก (ปากกระบอกปืนฝังลงดิน) โดยรอบฐานของอนุสาวรีย์ที่มีโซ่เหล็กร้อยไว้ หมายถึงปีที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (เลข 75 เป็นเลขท้ายสองหลักของปี พ.ศ. 2475) ส่วนโซ่ที่ร้อยไว้ด้วยกันหมายถึงความสามัคคีพร้อมเพรียงของคณะปฏิวัติ
ลายปั้นนูนที่ฐานครีบทั้ง 4 เน้นถึงเรื่องราวการดำเนินงานของคณะราษฎรตอนที่นัดหมายและแยกย้ายกันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
พระขรรค์ 6 เล่ม ที่รายล้อมรอบป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ หมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
อ่างตรงฐานปีกทั้ง 4 ด้านเป็นรูปงูใหญ่ หมายถึง ปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นปีมะโรง หรือ ปีงูใหญ่
อ้างอิงจาก : วิกิพีเดีย
- 8 พ.ย. 63 สรุปเหตุการณ์ ชุมนุม กลุ่มราษฏร ถูกตำรวจฉีดน้ำใส่
- รังสิมันต์ โรม ซัดเดือด ตำรวจฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม จนบาดเจ็บ ต้องรับผิดชอบ
- อมธ. รับไม่ได้ เจ้าหน้าที่รัฐ ใช้ความรุนแรงสกัดผู้ชุมนุม
- เต ตะวัน สุดปัง ทวีตถาม รักศาสนา และสนับสนุนให้คนทำร้ายกัน?