พาณิชย์ โว ผลิต ‘แมสก์’ ต่อวันได้ 4.2 ล้านชิ้น
พาณิชย์ โว ผลิต ‘แมสก์’ ต่อวันได้ 4.2 ล้านชิ้น พร้อมมติจาก ครม. ให้สั่งซื้อส่วนเกินแจกหน่วยงานที่จำเป็น
กรมการค้าภายในเผยมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยตั้งใหม่เพิ่มขึ้น มียอดผลิตรวมถึงวันละ 4.2 ล้านชิ้น เกิดส่วนเกินวันละ 1.2 ล้านชิ้น ครม.มีมติให้รับซื้อไว้ทั้งหมด ก่อนนำบริหารจัดการขายต่อให้หน่วยงานที่จำเป็นต้องใช้ ทั้งการบินไทย-สายการบิน-สตม.-ทอท. ส่วนการซื้อให้ “สาธารณสุข-มหาดไทย” เปลี่ยนวิธีใหม่ ให้โรงงานแข่งเสนอราคาขาย ล่าสุดเดือนก.ค. ซื้อตกชิ้นละ 3.65 บาทจากก่อนหน้าชิ้นละ 4.28 บาท หลังราคาวัตถุดิบลด คาดเดือนส.ค.มีแนวโน้มลงอีก
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้การผลิตหน้ากากอนามัยของไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่วันละประมาณ 4.2 ล้านชิ้น เพราะมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยตั้งใหม่เพิ่มขึ้นหลายราย โดยล่าสุดมีโรงงานที่ผลิตได้มาตรฐานและขายให้กับรัฐบาลรวม 16 ราย โดยรัฐรับซื้อวันละ 3 ล้านชิ้น จัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุข 1.8 ล้านชิ้น และกระทรวงมหาดไทย 1.2 ล้านชิ้น ซึ่งได้รับแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุขว่ามีสต๊อกเก็บไว้ใช้เกิน 1 เดือนแล้ว ส่วนจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับจัดสรรจากกระทรวงมหาดไทย ก็มีสต๊อกไว้มาก ทำให้หน่วยงานที่จำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัย ไม่มีปัญหาการขาดแคลน
สำหรับหน้ากากอนามัยส่วนเกินที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้กรมการค้าภายใน ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมบัญชีกลาง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข หาแนวทางบริหารจัดการให้เหมาะสม โดยเห็นตรงกันว่า รัฐจะรับซื้อหน้ากากอนามัยส่วนเกินไว้ทั้งหมด เพื่อนำมาขายต่อให้กับหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องใช้ในราคาต้นทุน เช่น การบินไทย , สายการบินต่างๆ , สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) เป็นต้น เพื่อรองรับการคลายล็อกดาวน์ ที่เปิดให้มีการเริ่มบินภายในประเทศ และเริ่มที่จะเปิดรับคนต่างชาติบางกลุ่มเข้ามา
นายวิชัยกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของคณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้อกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้เสนอให้คณะกรรมการเฉพาะกิจฯ พิจารณาปรับเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อหน้ากากอนามัยใหม่ จากในช่วงก่อนหน้า รัฐรับซื้อจากโรงงานวันละ 3 ล้านชิ้น ราคาชิ้นละ 4.28 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มาเป็นวิธีการประมูล โดยให้โรงงานเสนอราคาขายมา รายใดเสนอต่ำสุด รัฐจึงจะรับซื้อ ทำให้การซื้อเดือนมิ.ย. ซื้อได้ในราคาต่ำลงที่ชิ้นละ 4-4.15 บาท ส่วนเดือนก.ค. เหลือเพียง ชิ้นละ 3.65 บาท และคาดว่า ราคาในเดือนส.ค.นี้จะต่ำลงอีก
ปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตหน้ากากอนามัยถูกลง เนื่องจากวัตถุดิบสำคัญ โดยเฉพาะเมลท์โบลน ที่เป็นแผ่นกรองเชื้อโรค หาซื้อได้ง่ายขึ้น และราคาถูกลง เพราะผู้ผลิตหลายใหญ่ อย่างจีน กลับมาส่งออกมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ จำกัดการส่งออก เพื่อให้มีเพียงพอในประเทศ
สำหรับการส่งออกหน้ากากอนามัย คณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ได้เห็นชอบให้ต่ออายุการห้ามส่งออกไปอีก 6 เดือน หรือสิ้นสุดเดือนธ.ค.2563 จากก่อนหน้านี้ การห้ามส่งออกสิ้นสุดลงสิ้นเดือนมิ.ย.2563 แต่ยังคงยกเว้นให้ส่งออกได้ หากเป็นหน้ากากเฉพาะ เช่น หน้ากากป้องกันสารเคมี , หน้ากากอนามัยที่มีลิขสิทธิ์ ผลิตภายใต้แบรนด์เนมของผู้ว่าจ้าง , โรงงานได้รับการส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ผลิตเพื่อส่งออก และส่งออกไปให้สถานทูตไทยในประเทศต่างๆ เป็นต้น
ที่มา Thaigov