ข่าวการเมือง

อนาคตใหม่ แย้ง กกต รีบฟันอนาคตใหม่จนทำผิดขั้นตอนกฎหมายเสียเอง?

อนาคตใหม่ แย้ง กกต รีบฟันอนาคตใหม่จนทำผิดขั้นตอนกฎหมายเสียเอง?

ยุบอนาคตใหม่ – จากกรณี วันที่ 11 ธันวาคม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่จากกรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191,200,000 บาท เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีโทษถึงยุบพรรค

ต่อมา วันที่ 16 ธันวาคม พรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก พรรคอนาคตใหม่ – Future Forward Party ระบุหัวข้อว่า

Advertisements

กกต.รีบฟันจนทำผิดขั้นตอนกฎหมายเสียเอง?

“การที่ กกต. ไม่แจ้งข้อกล่าวหาและไม่เปิดให้พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสชี้แจงข้อกล่าวหานั้น ขัดต่อหลักการรับฟังความสองฝ่าย หรือหลักรับความอย่างเต็มที่ อันเป็นหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความในทุกระบบกฎหมาย

เมื่อกระบวนการดำเนินคดีเป็นไปโดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวางบรรทัดฐานไว้ในคำวินิจฉัยที่ 15/2553 คดีทีพีไอโพลีนบริจาค 258 ล้านให้พรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นกรณีที่ต้องยกคำร้องเพราะ กกต. ดำเนินการไม่ครบกระบวนการตามที่กฎหมายกำหนด

งานนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าคดีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่จะออกมาเป็นอย่างไร?

ขณะนี้ในเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่พบคำวินิจฉัยส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญที่ 15/2553 คดีร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์จากกรณีทีพีไอโพลีนบริจาค 258 ล้านบาท แม้ว่าจะพบคำวินิจฉัยส่วนตนในคดีอื่นๆ ทั้งปี 2553 ก็ตาม แต่ท่านสามารถอ่านคำวินิจฉัยกลางและส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวได้ที่ https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/A/039/1.PDF

Advertisements

โดยในอินโฟกราฟฟิกของพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่ากระบวนการทางกฎหมายที่หายไปคือ คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนแจ้งข้อกล่าวหา – ผู้ถูกกล่าวหาทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาพร้อมพยานหลักฐาน – เลขาธิการ กกต. เสนอสำนวนต่อคณะอนุกรรมการวินิจฉัย – เสนอความเห็นต่อกกต. (มีแต่เอกสารหลุด)

https://www.facebook.com/FWPthailand/photos/a.1657824830959771/2650320071710237/?type=3&__xts__%5B0%5D=68.ARDkBPHxNc8oySCWLmtGGO6PVO9Jcuf2UxbyOiKC_72k7HPeO9T4eZvo2AaM_j1a9NHblaoReIKYmmun25ZMVT-xiLnPIhneJ-lEYpbYS3TdetlILvmH6ODsj9TWbdN8Mp06YGQQkN5leLiBP2KuSQVIT7u0nxRGguVrnEkw9SaMgACteuOgg8sa_wuxuGPLw0A_lSqw-xVk6raU6YyAU8usZNPd9HR8SnD8SHj5qhsNg7KXAVjx0KUtuA0kBoiF9Dzmz2kdWLYg2a5tJSLopvew_kU65-08Jo4SUnU37Vk5L_wQWXncFG653nYVwvdIbCZy8YwHMzn_8WyyYmAuFDrLQdA7&__tn__=-R

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด อาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความและพยานหลักฐาน ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงข้อกฎหมาย กรณี กกต.มีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาว่า

ตามที่เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 กกต. มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 จากกรณีที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาท ซึ่ง กกต. ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 โดยยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่พรรคอนาคตใหม่ และต่อมานายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. แถลงว่า เหตุที่ กกต. มีมติในเรื่องนี้โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาเนื่องจากเป็นการใช้อำนาจของ กกต.ตาม พรป. พรรคการเมือง ฯ มาตรา 93 ที่ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาธิการ กกต.) มีอำนาจทำความเห็นพร้อมรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเสนอต่อ กกต. เพื่อพิจารณาและวินิจฉัยได้เลยโดยไม่ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาก่อน นั้น ผมขอให้ข้อสังเกตที่เป็นความเห็นทางวิชาการต่อประเด็นความชอบด้วยระเบียบและกฎหมายของการไม่แจ้งข้อกล่าวหานี้ โดยเป็นการให้ความเห็นทางวิชาการในประเด็นข้อกฎหมายเป็นการส่วนตัวในฐานะที่เป็นอาจารย์ผู้บรรยายกฎหมายวิธีพิจารณาความในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน โดยไม่มีวัตถุประสงค์และเจตนาสนับสนุนพรรคการเมืองหรือฝ่ายการเมืองใดทั้งสิ้น และไม่มีเจตนาก้าวล่วงคำวินิจฉัยของ กกต.และของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

1. พรป. พรรคการเมือง ฯ มาตรา 93 ให้อำนาจในการงดการแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่เพียงใด

ตาม พรป. พรรคการเมือง ฯ มาตรา 93 วรรคหนึ่ง กำหนดหลักการไว้ว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งก็คือเลขาธิการ กกต. ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 ให้นายทะเบียน มีอำนาจในการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อ กกต. เพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต.กำหนด โดยมาตรา 93 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้มีอำนาจในการงดแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด แต่มาตรา 93 กำหนดไว้แต่เพียงว่า การรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และการเสนอความเห็นต่อ กกต. เพื่อพิจารณา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต. กำหนด ซึ่งก็คือเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ข้อ 55 หมวด 7 การยุบพรรคการเมือง ซึ่งกำหนดให้นำระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อปรากฏว่าพรรคการเมืองใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 ซึ่งระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด จะกำหนดรายละเอียดของกระบวนการและขั้นตอนของการตรวจมูลกรณี การสืบสวน การไต่สวน การแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และการพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดของ กกต. เป็นต้น

2. ขั้นตอนและกระบวนการไต่สวนตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อไต่สวนเสร็จแล้วมีพยานหลักฐานฟังได้ ให้แจ้งข้อกล่าวหาและให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อกล่าวหา

เมื่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนได้ดำเนินการไต่สวนเสร็จแล้ว มีพยานหลักฐานสนับสนุนฟังได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 ให้แจ้งข้อกล่าวหาแก่พรรคการเมืองนั้นตามแบบ สตว. 6 รวมทั้ง กกต. อาจจะพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาแก่หัวหน้าพรรคการเมืองหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย ตามระเบียบ กกต. ฯ ข้อ 54 และ 55 ได้ด้วย โดยบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาจะระบุข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานโดยสรุป และกำหนดวันเวลา สถานที่ที่ให้ผู้ถูกกล่าวหาไปชี้แจงข้อกล่าวหา ทั้งนี้ ตามระเบียบ กกต. ข้อ 54 ซึ่งเรื่องยุบพรรคอนาคตใหม่ตามที่ กกต. กล่าวหาว่ากระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 นี้ กลับปรากฏจากคำแถลงของนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.ว่า มติของกกต. ดังกล่าว ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ อันสอดคล้องกับที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่แถลงว่า ได้มีการดำเนินกระบวนการไต่สวนไปแล้ว โดยประธานคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนได้เชิญพรรคอนาคตใหม่ไปชี้แจงแล้ว 3 ครั้ง และให้ส่งเอกสาร โดยยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาและให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

3. จะอ้างอำนาจในการสั่งงดการไต่สวนพยานหลักฐาน ตามระเบียบ กกต. ข้อ 57 วรรคท้าย ในการงดแจ้งข้อกล่าวหาได้หรือไม่เพียงใด

ถึงแม้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนจะมีอำนาจตามระเบียบ กกต. ข้อ 57 วรรคท้าย ที่จะงดการไต่สวนพยานหลักฐานได้ก็ตาม แต่จะตีความเลยไปถึงขนาดเป็นอำนาจในการงดแจ้งข้อกล่าวหาหาไม่ได้ เพราะอำนาจในการงดการไต่สวนพยานหลักฐานเป็นคนละเรื่องกันกับอำนาจในการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ

โดยระเบียบ กกต. ฯ ได้กำหนดเรื่องการไต่สวนและการแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ไว้คนละส่วนกัน โดยกำหนดเรื่องการไต่สวนไว้ในส่วนที่ 3 และกำหนดเรื่องการแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไว้ในส่วนที่ 4 การที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนมีอำนาจงดการไต่สวนพยานหลักฐานจึงไม่อาจตีความขยายความรวมไปถึงอำนาจในการงดแจ้งข้อกล่าวหาและอำนาจในการตัดสิทธิผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหาได้

นอกจากนี้ อำนาจในการงดการไต่สวนพยานหลักฐานดังกล่าว ก็เป็นเพียงอำนาจงดการไต่สวนเฉพาะพยานที่ทำให้การไต่สวนล่าช้าโดยไม่จำเป็นหรือพยานหลักฐานที่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่านั้น ซึ่งจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานแต่ละชิ้นเป็นรายกรณีไป ว่าพยานหลักฐานชิ้นใดไม่สำคัญ ทำให้ล่าช้า คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนจึงไม่มีอำนาจสั่งงดการไต่สวนพยานหลักฐานทั้งหมดได้

4. สิทธิในการรับทราบข้อกล่าวหาและสิทธิในการชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหาเป็นสิทธิตามหลักฟังความสองฝ่ายหรือหลักโต้แย้งคัดค้านต่อสู้คดี (The Principal of Bilateral Hearings หรือ Le Principe de la Contradiction) ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสำคัญ 2 หลักของหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ (Natural Justice) และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เป็นผลจากการที่รัฐต้องเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) โดยประชาชนไม่ได้เป็นเพียงวัตถุอย่างหนึ่งของคำตัดสิน แต่ยังมีฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิของกระบวนพิจารณาที่ตนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาจะต้องมีสิทธิได้รับทราบข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานของฝ่ายที่กล่าวหาตนและมีสิทธิที่จะยื่นคำแก้ข้อกล่าวหาและนำพยานหลักฐานมาหักล้างต่อสู้ข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานของอีกฝ่ายหนึ่งได้ ซึ่งหลักฟังความสองฝ่ายหรือหลักโต้แย้งคัดค้านต่อสู้คดีนี้เป็นหลักกฎหมายสากลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยได้มีการบัญญัติรับรองหลักนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศ และในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็ได้บัญญัติรับรองหลักนี้ไว้ในมาตรา 6 สำหรับรัฐธรรมนูญของไทยฉบับปี 2550 ก็เคยบัญญัติรับรองหลักนี้ไว้ในมาตรา 40 (2)

การไม่แจ้งข้อกล่าวหาและไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหานอกจากจะไม่เป็นไปตามระเบียบ กกต. ฯ ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังขัดกับหลักฟังความสองฝ่ายหรือหลักโต้แย้งคัดค้านต่อสู้คดีซึ่งเป็นหลักกฎหมายสากลและเป็นหนึ่งในหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติอีกด้วย

5. เมื่อไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและไม่ได้ให้โอกาสฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ กกต. ฯ ดังกล่าว จึงน่าจะถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนไม่สมบูรณ์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อ กกต. ได้รับสำนวนการไต่สวนนี้มาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัย แล้วมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ จึงน่าพิจารณาว่ามติของ กกต. ซึ่งพิจารณาและวินิจฉัยจากสำนวนการไต่สวนที่น่าจะไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมายนี้ เป็นมติที่ได้มีการปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยพรรคการเมือง ฯ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด ฯ และ พรป. พรรคการเมือง ฯ มาตรา 93 ดังที่กล่าวไปแล้ว หรือไม่

6. หากเปรียบเทียบกับสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนในการดำเนินคดีอาญาทั่วไปในศาลยุติธรรม หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยในความผิดที่อัยการฟ้องจำเลยนั้นต่อศาล ย่อมถือว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดฐานนั้น และอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหานั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา120 โดยหากอัยการยื่นฟ้องความผิดนั้นต่อศาล ศาลก็จะมีคำพิพากษายกฟ้อง (คำพิพากษาฎีกาที่ 1250/2521)

สำหรับกรณีที่ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่นั้น เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาว่าจะรับคำร้องนั้นไว้พิจารณาหรือไม่ และหากรับคำร้องไว้พิจารณาแล้วจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร

https://www.facebook.com/thanakrit.vorathanatchakul/posts/2723797137716181

Aindravudh

นักเล่าเรื่อง จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ผู้สนใจประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ผนวกกับการเริ่มต้นเส้นทางด้วยการเขียนงานวรรณกรรม ก่อนผันตัวมาเจาะประเด็นข่าวทางสังคม ออนไลน์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button