ทาสแมวโล่ง สัตว์แพทย์ชี้ ไม่เคยมีเคส ติดเชื้อในกระแสเลือดจากหมัดแมวกัด
ทาสแมวโล่ง สัตว์แพทย์ชี้ ไม่เคยมีเคส ติดเชื้อในกระแสเลือดจากหมัดแมวกัดจนเสียชีวิต
หมัดแมวกัด – จากกรณีมีรายงานข่าวว่าเด็กหญิงมัธยมชั้น ม.5 อายุ 16 ปี ถูกหมัดแมวกัดและเเพ้จนติดเชื้อในกระแสเลือดเสียชีวิตนั้น
คืบหน้าล่าสุด สำนักข่าวไทย รายงานความเห็นจาก สัตวแพทย์หญิงรัตนพร ตั้งวังวิวัฒน์ นายสัตวแพทย์ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ที่ทราบเบื้องต้นเด็กนักเรียนคนดังกล่าว เสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ต้องรอการสอบสวนอย่างชัดเจนอีกครั้ง แต่จากข้อมูลทางการแพทย์ไม่เคยพบกรณีติดเชื้อในกระแสเลือดเสียชีวิตจากเห็บหมัดมาก่อน ที่เป็นไปได้คือแพ้น้ำลายเห็บหมัด แล้วเกิดอาการช็อกรุนแรงนำไปสู่การเสียชีวิต
การแพ้น้ำลายเห็บหมัดจะมีลักษณะ ถ้าแบบเฉียบพลันผิวหนังแดง อักเสบ ภายใน 2-4ชม. มีอาการคันตุ่มแดง แต่บางคนก็เกิดอาการแพ้นานถึง 2 ปี การติดเชื้อที่บริเวณผิวหนังอาจทำให้ได้รับเชื้อแบคทีเรีย และพยาธิ อาทิ พยาธิตัวตืด หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ ที่มีการติดเชื้อจากหนู
แต่ประชาชนไม่ต้องกังวลเพราะเห็บหมัด สามารถจำกัดได้ด้วยการอาบน้ำสัตว์เลี้ยง ใช้ยากำจัดเห็บหมัด และการจัดการสิ่งแวดล้อมบริเวณของสัตว์เลี้ยงให้สะอาด
หมัดแมวคืออะไร
หมัดแมว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ctenocephalides felis เป็นหมัดที่พบมากที่สุดในจำนวนกว่า 2,000 สายพันธุ์ อุณหภูมิที่เหมาะสมกับพวกมัน 35 องศาเซลเซียสและความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 70% หมัดแมวสามารถกระโดดได้ไกล ทำให้หมัดแมวสามารถแพร่พันธุ์บนตัวเหยื่อได้ไกล
หมัดแมวเป็นสัตว์กินเลือด หมัดติดบนตัวสัตว์เลี้ยงแล้วภายใน 5 นาทีหมัดจะเริ่มดูดเลือดเป็นอาหาร และหมัดสามารถดูดเลือดได้นานถึง 2.5 ชั่วโมง หมัดตัวเมียจะดูดเลือดไม่รู้จักอิ่ม สามารถดูดกินเลือดได้ถึง 15 เท่าของน้ำหนักของมันทีเดียว หมัด 1 ตัวสามารถมีชีวิตอยู่บนตัวสุนัข หรือ แมว ได้นานถึง 2 เดือน ถ้าสยดสยองไม่พอ ให้รู้ไว้ด้วยว่าหมัดสามารถกินเลือดคนได้ด้วย
การติดหมัดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาซึ่งยากในการควบคุม เพราะหมัดสามารถวางไข่ในปริมาณมากจำนวน 40-50 ฟองต่อวัน และสามารถวางไข่ได้ถึง 50 วัน หมัดตัวเมีย 1 ตัวสามารถวางไข่ได้ถึง 2,000 ฟอง ไข่หมัดจะฟักตัวเป็นตัวอ่อน(larvae) และตัวดักแด้(pupae) ก่อนจะเติบโตเป็นตัวเต็มวัย
วิธีสังเกตหมัดแมว
หมัดแมวมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ แต่เมื่อกินเลือดแล้วสีจะอ่อนลง มันจะชอบอยู่บริเวณข้อพับและขาหนีบของสัตว์ นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตจากอาการสัตว์เลี้ยงได้ว่ากำลังมีหมัดรุกรานหรือไม่ โดยแมวที่มีหมัดจะมีอาการกระสับกระส่าย เกาหรือเคี้ยวบางบริเวณของร่างกายมากกว่าปกติ สั่นหัวบ่อยขึ้นและเกาที่หู อาจมีอาการเลียบริเวณขนอย่างรุนแรงและซ้ำๆ
วิธีกำจัดหมัดแมว
ทำความสะอาดบริเวณที่อยู่อาศัยให้สะอาดอยู่เสมอ ดูแลสุขอนามัยให้สัตว์เลี้ยง หมาแมวที่อาศัยอยู่ในบ้าน หรือในบริเวณใกล้บ้าน ทำความสะอาดพื้น และโซฟา ทุกบริเวณที่สัตว์เลี้ยงนอนหรือสัมผัส
อ้างอิงจาก