
เปิดใจ “ปูนิ่ม” อดีตนักธุรกิจสาวที่ต้องเผชิญกับหนี้ภาษีย้อนหลัง 600 ล้านบาท จนถูกอายัดทรัพย์สินหมดตัว เผยบทเรียนราคาแพงสำหรับแม่ค้าออนไลน์
กลายเป็นอุทาหรณ์ราคาแพงสำหรับผู้ประกอบการยุคใหม่ เมื่อ “ปูนิ่ม” อดีตนักธุรกิจสาวผู้เคยสร้างชื่อในวงการอาหารเสริมเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ได้ออกมาเปิดใจเล่าถึงมรสุมชีวิตที่ทำให้เธอต้องเผชิญกับ หนี้ภาษีย้อนหลังสูงถึง 600 ล้านบาท จนถูกอายัดทรัพย์สินทั้งหมด และต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
เรื่องราวชีวิตของปูนิ่มพลิกผันครั้งแรกในปี 2557 เมื่อผลิตภัณฑ์ของเธอถูกร้องเรียนจนเป็นคดีความ แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เธอกลับถูกอดีต สส. ที่อ้างว่าจะเข้ามาช่วยเคลียร์คดี หลอกเงินไปกว่า 9 ล้านบาท จนทำให้เธอต้องโทษติดคุกนานกว่า 2 ปี
ใครจะคิดว่า หายนะครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเธอกลับไม่ได้มาจากคดีความ แต่มาจากความไม่รู้ ในยุคบุกเบิกของโลกออนไลน์ ปูนิ่มเล่าว่าในอดีต ด้วยความที่เป็นแม่ค้ายุคแรก ๆ เธอได้ใช้ บัตรเครดิตส่วนตัว จ่ายค่าโฆษณาผ่าน Facebook Ads ซึ่งในทางกฎหมายแล้ว ถือเป็น “รายจ่ายส่วนตัว” ที่ไม่สามารถนำไปหักลดยอดรายได้ของบริษัทได้
ความผิดพลาดเพียงจุดเดียวนี้เอง ที่เปิดประตูให้กรมสรรพากรประเมินว่ารายได้ทั้งหมดของเธอคือ “เงินได้ส่วนบุคคล” และถูกคิดภาษีในอัตราสูงสุด เมื่อบวกกับดอกเบี้ยและค่าปรับมหาศาลตลอดหลายปี หนี้ก้อนนี้จึงพุ่งสูงไปถึง 600 ล้านบาท ทรัพย์สินที่สร้างมาทั้งชีวิตถูกอายัดจนหมดสิ้น แต่ก็ยังไม่พอจ่ายหนี้

ทำไมการเป็นหนี้ กรมสรรพากร คดีไม่มีหมดอายุความ
เรื่องนี้ “ทนายแก้ว” ที่มาร่วมให้ความรู้ในรายการโหนกระแส ได้ตอกย้ำถึงความน่ากลัวของหนี้ประเภทนี้ โดยชี้ว่า “หนี้สรรพากร” คือหนี้ที่น่ากลัวที่สุด เพราะ ไม่มีวันหมดอายุความ และเป็นเจ้าหนี้เบอร์หนึ่งที่ต้องได้รับเงินก่อนเสมอ ต่อให้ล้มละลายก็หนีไม่พ้น ถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่นักธุรกิจและแม่ค้าออนไลน์ยุคใหม่ต้องระวังให้ดี
ทั้งนี้ ทีมข่าว เดอะ ไทยเกอร์ ได้ทำการหาข้อมูลเพิ่มเติม จึงทำให้ทราบว่าแม้ตามกฎหมายทั่วไปหนี้จะมีอายุความ 10 ปี แต่สำหรับหนี้ภาษี ทุกครั้งที่กรมสรรพากรส่งหนังสือทวงถามหรือดำเนินการยึดทรัพย์ อายุความ 10 ปีนั้นจะถูก “รีเซ็ต” เริ่มนับหนึ่งใหม่ทันที มันจึงเป็นหนี้ที่สามารถยืดเยื้อติดตามตัวเราไปได้เรื่อยๆ จนกว่าจะชำระครบ
ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ แม้จะเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย จนศาลมีคำสั่ง “ปลดจากล้มละลาย” ให้คุณเป็นอิสระจากหนี้สินอื่น ๆ ทั้งหมดแล้ว แต่กฎหมายกลับยกเว้น “หนี้ภาษีอากร” ไว้อย่างชัดเจน หนี้ก้อนนี้จะยังคงติดตัวคุณไปจนกว่าจะชำระหมดสิ้น ไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ
เหตุผลเบื้องหลังนั้นตรงไปตรงมาและสำคัญอย่างยิ่ง ข้อแรกคือ ภาษีเป็นเงินของแผ่นดิน ที่ต้องใช้เพื่อพัฒนาประเทศและดูแลสาธารณประโยชน์ รัฐจึงต้องปกป้องสิทธิ์ในการจัดเก็บอย่างเต็มที่ และข้อสองคือเพื่อป้องกันการเอาเปรียบ ไม่ให้คนที่มีเจตนาไม่ดีใช้การล้มละลายเป็นเครื่องมือในการหนีภาษี ซึ่งจะไม่เป็นธรรมกับผู้เสียภาษีที่ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ

สรุปให้เข้าใจง่าย
หนี้ภาษีอากร หรือ “หนี้สรรพากร” ถือเป็นหนี้ประเภทพิเศษที่น่ากลัวที่สุด เพราะมีกลไกทางกฎหมาย 2 ข้อที่ทำให้ลูกหนี้แทบไม่มีทางหนีพ้นได้เลย คือ
1. อายุความที่ถูก “กดปุ่มรีเซ็ต” ได้ตลอดเวลา
แม้ตามกฎหมายแล้ว หนี้ทั่วไปจะมีอายุความ 10 ปี แต่สำหรับหนี้ภาษี ทุกครั้งที่กรมสรรพากรมีแอ็กชันกับเรา อายุความ 10 ปีนั้นจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ทันที เช่น
- สมมติว่าคุณค้างภาษีตั้งแต่ ปี 2560 (ซึ่งควรจะหมดอายุความในปี 2570)
-
แต่ในปี 2569 (ปีที่ 9) กรมสรรพากรส่งหนังสือแจ้งหนี้มาที่บ้านคุณ
-
อายุความ 10 ปีจะถูก “รีเซ็ต” และเริ่มนับหนึ่งใหม่ทันทีจากปี 2569 ไปจนถึง ปี 2579
- และถ้าหากในปี 2578 สรรพากรมีคำสั่งยึดทรัพย์ อายุความก็จะถูกรีเซ็ตและยืดไปถึงปี 2588… เป็นแบบนี้ไปได้เรื่อย ๆ ครับ

2. “การล้มละลาย” ไม่สามารถล้างหนี้ภาษีได้
หนี้ภาษีเป็น “เจ้าหนี้เบอร์หนึ่ง” ที่กฎหมายให้สิทธิพิเศษเหนือเจ้าหนี้อื่นๆ แม้แต่การล้มละลายก็ไม่สามารถลบล้างหนี้ก้อนนี้ได้
- สมมติว่าคุณมีหนี้บัตรเครดิต 1 ล้านบาท, หนี้ธุรกิจ 2 ล้านบาท, และ หนี้ภาษีอีก 5 แสนบาท แล้วคุณถูกฟ้องจนกลายเป็นบุคคลล้มละลาย
-
เมื่อผ่านกระบวนการไป 3 ปี ศาลมีคำสั่ง “ปลดจากล้มละลาย” หนี้บัตรเครดิตและหนี้ธุรกิจอาจถูกยกเลิกไปทั้งหมด
-
แต่หนี้ภาษี 5 แสนบาทจะยังคงอยู่! และคุณยังต้องรับผิดชอบชำระคืนให้แก่รัฐจนครบถ้วนเหมือนเดิมครับ
- หากกลับมามีรายได้ก็จะต้องยังคงใช้หนี้สรรพากรให้ครบ
ข่าวที่อาจเกี่ยวข้อง
- วิธีแก้ OTP ไม่ส่ง ลงทะเบียน “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” 2568 ไม่ต้องรีบ
- วิธีจองโรงแรม-ที่พัก เที่ยวไทยคนละครึ่ง ลงทะเบียนเสร็จแล้ว ทำยังไงต่อ
อ้างอิง : โหนกระแส, กรมสรรพากร, คำพิพากษาฎีกา, สถาบัตนิติธรรมาลัย
ติดตาม The Thaiger บน Google News: