ปาดเหงื่อ สมาคมต้องหาเงินเอง 450 ล้าน จัดวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2025

นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แถลงความคืบหน้าเตรียมจัดการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2568 “FIVB Volleyball Women’s World Championship 2025” ไทยเป็นเจ้าภาพ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม ถึง 7 กันยายน 2568 มี 32 ทีมชั้นนำจากทั่วโลกร่วมแข่งขัน รวม 64 แมตช์ ตลอด 14 วัน การแข่งขันจะจัดในสนาม 4 จังหวัด ครอบคลุม 4 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (ภาคกลาง) ภูเก็ต (ภาคใต้) เชียงใหม่ (ภาคเหนือ) และนครราชสีมา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
นายกฤษฎา กล่าวถึงงบประมาณทั้งหมด 1,100 ล้านบาท รัฐบาลได้อนุมัติงบกลาง 450 ล้านบาท เงินจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติอีก 200 ล้านบาท รวมเป็นเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 650 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 450 ล้านบาท สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยจะรับผิดชอบจัดหาเพิ่มเติม คาดว่าจะได้จากค่าบัตรเข้าชมประมาณ 50 ล้านบาท และมีภาคเอกชนสนับสนุนแล้วกว่า 100 ล้านบาท ยังมีเอกชนรายอื่นที่สนใจจะเข้ามาสนับสนุนอีก
การเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการจัดกีฬาระดับโลก วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยเป็นที่นิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ การแข่งขันนี้เปิดโอกาสให้คนไทยได้ชมนักกีฬาระดับโลก สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศผ่านการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก และสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุน รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร คณะรัฐมนตรี และนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้การสนับสนุนเต็มที่
คาดว่าการแข่งขันนี้จะสร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีมูลค่าการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ทั่วโลก ผู้ชมรวมประมาณ 1.3 พันล้านคน และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศรวมประมาณ 8.5 พันล้านบาท
ด้านนายสมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (FIVB) ให้เกียรติไทยเป็นเจ้าภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจากนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผลักดันจนคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ค่าใช้จ่ายรวม 1,100 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าลิขสิทธิ์ FIVB ค่าภาษี และค่าจัดการแข่งขัน ได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาล 450 ล้านบาท (อนุมัติ 13 พฤษภาคม 2568) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ 200 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 450 ล้านบาท สมาคมฯ จะจัดหาจากค่าบัตรเข้าชม (คาดการณ์ 50 ล้านบาท) และลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีและออนไลน์ ตอนนี้ก็มี มีเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนแล้วเพิ่มอีก 100 ล้านบาท
ย้อนกลับไปเมื่อกลางเดือน พฤษภาคม 2568 คณะรัฐมนตรีมีมติ ไฟเขียวงบค่าใช้จ่าย เจ้าภาพวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,124.50 ล้านบาท แบ่งรายจ่ายได้ดังนี้
(1) ค่าที่พักและอาหาร จำนวน 67.82 ล้านบาท
(2) ค่าตอบแทนบุคลากร จำนวน 16.00 ล้านบาท
(3) ค่าใช้จ่ายสนามแข่งขัน/ฝึกซ้อม จำนวน 168.53 ล้านบาท
(4) ค่าพาหนะหรือค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 9.27 ล้านบาท
(5) ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์การแข่งขัน จำนวน 30.50 ล้านบาท
(6) เงินอุดหนุนการดำเนินการจัดการแข่งขันSME จำนวน 10.50 ล้านบาท
(7) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ค่าพิธีเปิด – พิธีปิด ค่าผลิตถ้วยรางวัลและของที่ระลึก ค่าดำเนินการเก็บและวิเคราะห์ด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ และค่าจัดทำบูธการแสดงสินค้าหน้าสนามแข่งขัน จำนวน 28.82 ล้านบาท
(8) ค่าลิขสิทธิ์การจัดการแข่งขัน จำนวน 630.00 ล้านบาท
(9) ค่าอนุสัญญาภาษีซ้อน จำนวน 111.18 ล้านบาท
(10) ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 51.88 ล้านบาท
รู้จักวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก ศึกแห่งศักดิ์ศรีลูกยาง
การแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก จัดขึ้นครั้งแรกในปี 1952 ที่กรุงมอสโก จากวิสัยทัศน์ของสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (FIVB) ที่ต้องการเวทีอาชีพระดับโลก ต่อยอดจากทีมชายที่เริ่มแล้วในปี 1949 ครั้งแรกมีเพียง 8 ชาติส่วนใหญ่จากยุโรป มีอินเดียเป็นตัวแทนเอเชีย
ช่วงทศวรรษแรกการแข่งขันจัดไม่สม่ำเสมอ แต่หลังปี 1970 FIVB กำหนดให้ชิงแชมป์โลกหญิงทุก 4 ปี จนกระทั่งในปี 2022 ได้ประกาศย้ายปฏิทินการแข่งขันมาเป็นทัวร์นาเมนต์ทุก 2 ปี ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป เพื่อสร้างความต่อเนื่อง กระตุ้นความสนใจของแฟนกีฬา
จำนวนทีม จากเดิม 8 ทีมในปีแรก ขยับเป็น 16 ทีม และ 24 ทีม ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ล่าสุดปี 2025 จะมีถึง 32 ทีมร่วมประชันฝีมือ ยังยกระดับการแข่งขันให้หลากหลายเข้มข้นขึ้น
ศักดิ์ศรีของชิงแชมป์โลกหญิงอยู่ในอันดับ 2 รองจากโอลิมปิก การคว้าแชมป์โลกจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของแต่ละชาติ ผลงานในรายการนี้มีผลต่อคะแนนสะสมอันดับโลกของ FIVB ซึ่งส่งผลต่อการวางสายในการแข่งขันครั้งต่อไป ดังนั้นทุกคะแนนในทัวร์นาเมนต์นี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
รูปแบบการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2025
1. รอบแบ่งกลุ่ม (Pool Phase) ทีมที่เข้าร่วมทั้ง 32 ทีม จะถูกแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม (กลุ่ม A ถึง H) กลุ่มละ 4 ทีม. ในรอบนี้ แต่ละทีมจะแข่งขันแบบพบกันหมดภายในกลุ่มของตนเอง. ทีมที่มีผลงานดีที่สุดสองอันดับแรกของแต่ละกลุ่ม (รวมทั้งหมด 16 ทีม) จะผ่านเข้าสู่รอบน็อคเอาท์ต่อไป.
2. รอบน็อคเอาท์ (Knockout Stage) การแข่งขันในรอบนี้จะเป็นแบบแพ้คัดออก เริ่มต้นจาก
รอบ 16 ทีมสุดท้าย แข่งขันระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 1 กันยายน 2025.
รอบก่อนรองชนะเลิศ (Quarter-finals) แข่งขันในวันที่ 3 และ 4 กันยายน 2025.
รอบรองชนะเลิศ (Semi-finals) แข่งขันในวันที่ 6 กันยายน 2025.
รอบชิงชนะเลิศ (Final) และรอบชิงอันดับ 3 (Bronze Medal Match) แข่งขันในวันที่ 7 กันยายน 2025. รอบชิงชนะเลิศจะแข่งขันที่กรุงเทพมหานคร.
รายชื่อทีมที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 32 ทีม ประกอบด้วย
- เจ้าภาพ: ไทย
- แชมป์เก่า: เซอร์เบีย
- เอเชีย (AVC): จีน, ญี่ปุ่น, เวียดนาม
- ยุโรป (CEV): ตุรกี, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี, โปแลนด์, เยอรมนี, เบลเยียม, สาธารณรัฐเช็ก, ยูเครน, ฝรั่งเศส, บัลแกเรีย, สวีเดน, สโลวีเนีย, สโลวาเกีย, สเปน, กรีซ
- อเมริกาเหนือ กลาง และแคริบเบียน (NORCECA): สาธารณรัฐโดมินิกัน, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, เปอร์โตริโก, คิวบา, เม็กซิโก
- อเมริกาใต้ (CSV): บราซิล, อาร์เจนตินา, โคลอมเบีย
- แอฟริกา (CAVB): เคนยา, อียิปต์, แคเมอรูน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดศึก VNL 2025 ไทยพบโปแลนด์ วัดใจนัดแรก ลุ้นบวกลบแต้มอันดับโลกสูงมาก
- ไทยงานเข้า ชัชชุอร บาดเจ็บ อาจอดแข่ง VNL 2025 สนามแรก
- ครม.อนุมัติงบ 1,124 ล้านบาท ไทยเป็นเจ้าภาพจัดแข่ง ‘วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2025’
ติดตาม The Thaiger บน Google News: