ภูมิธรรม แจงยิบ ข่าวสั่งถอนทหาร “ปราสาทตาเมือนธม” นักวิชาการ หวั่นเสียดินแดน

ภูมิธรรม รมว.กลาโหม แจงยิบ ปมร้อนชายแดนสุรินทร์ โต้ข่าวลือสั่งทหารถอย ปราสาทตาเมือนธม หวั่นเสียดินแดน ย้ำคุย “เตีย เซ็ยฮา” โปร่งใสต่อหน้าสักขีพยานเพียบ ตกลงใช้กรอบ MOU ปี 43 ชี้ชัดถอยทหาร หมายถึงส่วนที่ขยับเข้ามาทีหลัง ไม่ใช่จุดที่ไทยยืนอยู่เดิม
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงอย่างละเอียด กรณีมีนักวิชาการบางกลุ่มออกมาให้ข้อมูลว่า ตนเองมีคำสั่งให้ทหารถอนกำลังออกจากพื้นที่ปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ จนเกิดความกังวลว่าจะทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน
นายภูมิธรรม กล่าวยืนยันหนักแน่นว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา (GBC) ที่ผ่านมา ตนได้หารือกับ พล.อ.เตีย เซ็ยฮา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพของกัมพูชาเข้าร่วมครบถ้วน ส่วนฝ่ายไทย นอกจากตนแล้ว ยังมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม, ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก และตัวแทนจากกองทัพเรือ กองทัพอากาศ เข้าร่วมด้วย การพูดคุยจึงเป็นไปอย่างเปิดเผย ทุกคนสามารถเป็นพยานได้ ไม่มีการตกลงลับหลังใดๆ ทั้งสิ้น
รองนายกฯ ภูมิธรรม ชี้แจงเพิ่มเติมว่า นอกจากการประชุมใหญ่แล้ว ยังมีการหารือวงเล็กแบบ 2 คน (Four Eyes) ซึ่งเริ่มแรกเป็นการพูดคุยแบบ 1+2 คือ ตนเองกับ พล.อ.เตีย เซ็ยฮา โดยมีนายทหารของกัมพูชาและฝ่ายไทย (รมช.กลาโหม และ ปลัด กห.) ร่วมรับฟังและจดบันทึก แต่ภายหลังได้ปรับเป็นการหารือแบบ 1+1 ซึ่งตนและ รมช.กลาโหม เป็นผู้เข้าร่วม เนื่องจากมีอาวุโสสูงสุด เป็นการแสดงความโปร่งใส ไม่มีเจตนาปกปิดซ่อนเร้น และขอย้ำว่าไม่มีการพูดคุยส่วนตัวนอกรอบอย่างแน่นอน

“เนื้อหาสำคัญที่เราตกลงกันคือ ให้กลับไปยึดตามกรอบบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ปี 2543 ซึ่งใน MOU นี้ มีการกำหนดเรื่องการปักปันเขตแดน และระบุถึงพื้นที่ที่ยังไม่มีข้อยุติ หรือ No Man’s land ไว้ชัดเจน ซึ่งทางกองทัพเองก็เห็นด้วยและเสนอให้ใช้ MOU 2543 เป็นแนวทางหลัก” นายภูมิธรรมกล่าว
นายภูมิธรรม อธิบายต่อถึงประเด็น “การถอยทหาร” ที่เป็นต้นตอของความเข้าใจผิดว่า ในที่ประชุม GBC ได้มีการหารือให้มีการปรับกำลังทหารตามแนวทางของ MOU 2543 และตามข้อตกลงที่มีการสรุปร่วมกันไว้เมื่อปี 2562 เพื่อให้สถานการณ์กลับไปสู่จุดเดิมก่อนที่จะมีการเคลื่อนกำลังเข้ามาใหม่ ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดเรื่องนี้กันต่อไป โดยผู้บัญชาการทหารบกได้รับไปดำเนินการแล้ว
“คำว่า ‘ถอยทหาร’ ที่ตกลงกัน ไม่ได้หมายความว่าให้เราถอนกำลังออกจากจุดที่เราประจำการอยู่เดิมทั้งหมด แต่หมายถึง ให้ถอนกำลังในส่วนที่มีการรุกล้ำ หรือขยับเข้ามาในพื้นที่พิพาทภายหลัง ให้ถอยกลับไปจุดเดิม สำหรับพื้นที่บนปราสาทตาเมือนธมนั้น เป็นจุดที่ทหารไทยเรายืนหยัดดูแลรักษาอยู่แล้ว ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม การอนุญาตให้ขึ้นไปเยี่ยมชมก็ยังคงทำได้ตามปกติ เพียงแต่เราตกลงกันว่าจะต้องมาคุยรายละเอียดเรื่องการปฏิบัติกันอีกครั้ง ตอนนี้ แม่ทัพภาคที่ 2 ก็ได้ส่งกำลังเข้าไปดูแลในพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชามีการเคลื่อนกำลังเข้ามา ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงที่เรายืนยันจะรักษาอธิปไตยในแผ่นดินของเรา ปราสาทตาเมือนธม ก็ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลตามข้อตกลงทุกประการ” นายภูมิธรรม ย้ำชัด
นายภูมิธรรม กล่าวปิดท้ายด้วยความมั่นใจว่า “ผมขอยืนยันว่า ไม่มีการเอาที่ดินไปขายให้ใคร และทหารไม่เคยปฏิเสธที่จะปกป้องอธิปไตย ทหารทุกนายรับคำสั่งและเข้าใจตรงกัน ทั้ง ผบ.ทบ. และ ผบ.สส. ก็เข้าใจตามนี้ ข่าวที่ออกไปก่อนหน้านี้ผิดจากความจริง ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 2 ก็ได้ชี้แจงไปแล้ว แต่ก็ยังมีสื่อบางฉบับนำไปขยายผลต่อ ผมไม่ทราบสาเหตุ แต่ดูเหมือนมีความพยายามบางอย่างที่จะโจมตี สร้างความสั่นคลอนให้กับรัฐบาล”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กองกำลังสุรนารี แจงคลิปทหารเมียนมาร้องเพลงหน้าปราสาทตาเมือนธม
- หวั่นเอาคลิปไปเคลม ทหารกัมพูชาร้องเพลงชาติ บนปราสาทตาเมือนธม แม่ทัพภาค 2 ท้วง ดินแดนไทย
- เหิมหนัก! ทหารเขมร ขู่ยิงทัพไทย บุกปราสาทตาเมือนธม ร้องเพลงชาติข่ม
ติดตาม The Thaiger บน Google News: