ข่าวการเมือง

คลิป “ในหลวง” ขับเครื่องบินด้วยพระองค์เองกลับจากภูฏาน สนามบินที่ลงจอดยากที่สุดในโลก

เหนือฟ้าคือพระบารมี “ในหลวง” เสด็จฯ เยือนภูฏาน ทรงขับเครื่องบินด้วยพระองค์เอง ลงจอดสนามบินพาโร พระปรีชาสามารถด้านการบินที่ประจักษ์ทั่วโลก

นับเป็นภาพแห่งความภาคภูมิใจของพสกนิกรไทยทั้งประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี เสด็จเยือนประเทศภูฏานอย่างเป็นทางการ ทรงขับเครื่องบินพระที่นั่งด้วยพระองค์เองตลอดเส้นทาง นับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญที่สะท้อนถึงพระปรีชาสามารถด้านการบินในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น “นักบินฝีมือเยี่ยมระดับโลก”

ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ เยือนราชอาณาจักรภูฏานครั้งนี้ มีขึ้นระหว่างวันที่ วันที่ 25 – 28 เมษายน 2568 ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กษัตริย์แห่งภูฏาน นับเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างราชวงศ์ไทยกับราชวงศ์ภูฏาน และความร่วมมือระหว่างสองประเทศที่ดำรงความผูกพันมายาวนาน

แต่สิ่งที่เป็นที่กล่าวขานไปทั่วสังคมโลกออนไลน์ คือภาพ วิดีโอ ขณะในหลวงทรงเป็นกัปตัน โดยมีพระราชินีเป็นผู้ช่วยกัปตัน นำเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จฯ ลงจอด ณ ท่าอากาศยานนานาชาติพาโร เมืองหลวงของภูฏาน ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นสนามบินที่มีความท้าทายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ลานบินที่มีระยะทางสั้น ต้องอาศัยทักษะขั้นสูงในการบิน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงขับเครื่องบินพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง มีรายงานว่า พระองค์ทรงบินเข้ามาด้วยเส้นทางที่ต้องอาศัยความแม่นยำสูง การควบคุมอากาศยานในระดับความสูงต่ำตลอดการบินผ่านหุบเขา ซึ่งแม้นักบินผู้มากประสบการณ์ทั่วโลกยังต้องฝึกฝนอย่างหนักกว่าจะได้รับอนุญาตให้ลงจอดที่สนามบินพาโรได้

ในหลวง พระราชินี ทรงขับเครื่องบินด้วยพระองค์เอง ในฐานะกัปตันและผู้ช่วยกัปตันนักบิน
ในหลวง พระราชินี ทรงขับเครื่องบินด้วยพระองค์เอง ในฐานะกัปตันและผู้ช่วยกัปตันนักบิน

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการบินจากประเทศออสเตรเลีย ทรงเคยปฏิบัติภารกิจในกองทัพอากาศมาอย่างยาวนาน

“เดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2513 ได้เสด็จพระราชดำเนินจากประเทศอังกฤษไปทรงศึกษาวิชาการทหารที่โรงเรียนคิงส์ เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร หลังทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยในกิจการเกี่ยวกับกองทัพและกิจการทหาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาเป็นเวลา 5 สัปดาห์”

ทรงมีความชำนาญทั้งการบินเครื่องบินใบพัด เครื่องบินไอพ่น และเฮลิคอปเตอร์ โดยทรงสะสมชั่วโมงบินมาแล้วหลายพันชั่วโมง ถือเป็นกษัตริย์ไม่กี่พระองค์ในโลกที่ทรงมีพระปรีชาสามารถในวิชาทางการทหารและการบินในระดับสูงอย่างแท้จริง

การเสด็จฯ ครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นภารกิจทางการทูตเท่านั้น หากยังเป็นภาพที่แสดงถึงพระวิริยะอุตสาหะ และพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่ทรงมุ่งมั่นศึกษา พัฒนา และนำความรู้ความสามารถมาใช้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างต่อเนื่อง

ประชาชนชาวไทยต่างร่วมแสดงความปลื้มปีติและภาคภูมิใจต่อพระปรีชาสามารถในด้านการบินของในหลวง ซึ่งไม่เพียงแสดงถึงพระอัจฉริยะในทางเทคนิค แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่น ความกล้าหาญ และความรับผิดชอบที่ทรงมีต่อภารกิจและบ้านเมือง

“เหนือฟ้าคือพระบารมี” ไม่ใช่เพียงคำเปรียบเปรยอีกต่อไป หากแต่เป็นภาพที่ประจักษ์ชัดว่า ในหลวงของเราทรงอยู่เหนือสายลม เมฆหมอก อุปสรรคทั้งปวง ด้วยพระปรีชาสามารถที่น้อมนำประเทศไทยก้าวหน้าไปสู่อนาคตด้วยพระราชหฤทัยที่มั่นคง.

ในหลวงขับเครื่องบินเสด็จฯ กลับจากภูฏาน
ในหลวงขับเครื่องบินเสด็จฯ กลับจากภูฏาน

ประวัติ สนามบินพาโร ภูฏาน ขึ้นชื่อลงจอดยากที่สุดในโลก

สนามบินนานาชาติพาโร (Paro International Airport) แห่งราชอาณาจักรภูฏาน อาจดูเหมือนสนามบินขนาดเล็กท่ามกลางขุนเขาสูงสงบ แต่กลับเป็นหนึ่งในสนามบินที่นักบินทั่วโลกต่างยกให้น่าหวาดเสียวที่สุดในการลงจอด ไม่ใช่เพียงเพราะภูมิประเทศเท่านั้น หากแต่เป็นการผสมผสานระหว่างความสูง ลมแรง ทางวิ่งสั้น และ การควบคุมแบบสายตาล้วน ๆ ที่ทำให้ที่นี่มีเพียงไม่กี่คนในโลกที่ได้รับอนุญาตให้บินลงได้

สนามบินพาโร สนามบินแห่งเดียวของประเทศ ที่โอบล้อมด้วยหุบเขาสูงชัน ตั้งอยู่ในหุบเขาพาโร จังหวัดพาโร ห่างจากเมืองหลวงทิมพูประมาณ 50 กิโลเมตร ถือเป็นสนามบินนานาชาติแห่งเดียวของประเทศที่มีเที่ยวบินพาณิชย์เข้าออก ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลถึง 2,235 เมตร (7,333 ฟุต)

สิ่งที่ทำให้สนามบินพาโรมีชื่อเสียงระดับโลกในฐานะ “สนามบินที่ลงจอดยากที่สุด” คือ ภูมิประเทศที่โอบล้อมด้วยเทือกเขาหิมาลัย โดยรอบสนามบินมีภูเขาสูงกว่า 5,500 เมตร นักบินต้องพาเครื่องบินส่ายเลี้ยว ระหว่างหุบเขาเข้ามาโดยไม่มีระบบช่วยนำทางอัตโนมัติแบบสนามบินใหญ่ ๆ ทั่วไป

ในหลวง เสด็จฯ เยือนภูฏาน ทรงขับเครื่องบินด้วยพระองค์เอง ทรงเยี่ยมกษัตริย์จิ๊กมี่
ภาพจาก: พระลาน

เส้นทางบินที่ต้องใช้ “ความแม่นยำระดับเทพ”

นักบินต้องนำเครื่องบินโค้งเลี้ยวเข้าไปในช่องเขาแคบ ๆ ที่แทบมองไม่เห็นปลายทาง ระยะของรันเวย์ (Runway) เพียง 1,964 เมตร ซึ่งสั้นมากเมื่อเทียบกับสนามบินอื่น

ไม่สามารถใช้การบินแบบอัตโนมัติ (Instrument Landing System: ILS) ได้เลย ต้องใช้สายตา (Visual Flight Rules: VFR) ล้วน ๆ ต้องบินในเวลากลางวันเท่านั้น และเฉพาะสภาพอากาศดี

นั่นทำให้สนามบินพาโรมีนักบินที่ “ผ่านการรับรอง” ให้ลงจอดได้เพียง ไม่ถึง 20 คนทั่วโลก โดยส่วนใหญ่เป็นนักบินของสายการบิน Druk Air และ Bhutan Airlines ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของภูฏาน

สภาพภูมิอากาศของพาโรถือว่าเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบินเข้ายากยิ่งขึ้น เพราะ ทิศทางลมในหุบเขาเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและไม่แน่นอน ฤดูหนาวมีหิมะตกหนาแน่น ทำให้ทัศนวิสัยต่ำ พายุลมจากหิมาลัยสามารถทำให้เครื่องบินโคลงเคลงได้แม้แต่ระยะไม่กี่วินาทีก่อนลงจอด

ภาพจาก: พระลาน

แต่เชื่อหรือไม่ว่า จนถึงปัจจุบัน สนามบินพาโรไม่เคยเกิดอุบัติเหตุทางอากาศร้ายแรง ใด ๆ เลยในประวัติศาสตร์ นั่นเป็นผลจากความเข้มงวดในการฝึกอบรมนักบิน ความพิถีพิถันในการวางแผนการบิน และการรักษาความปลอดภัยอย่างสูงสุดของรัฐบาลภูฏาน

ถึงการบินเข้าสนามบินพาโรจะเต็มไปด้วยความท้าทายระดับสูง แต่นักเดินทางทั่วโลกกลับยอมรับว่าวิวระหว่างทาง ที่มองเห็นทิวเขาหิมาลัย หุบเขาเขียวขจี และอารามกลางยอดเขา คือหนึ่งในประสบการณ์ที่ งดงามที่สุดในชีวิต

สนามบินพาโรถือเป็น สนามสอบของฝีมือนักบินตัวจริง เป็นสนามบินที่แม้แต่กัปตันมากประสบการณ์ยังต้องฝึกเฉพาะทางหลายเดือน และไม่มีที่ว่างสำหรับความผิดพลาด

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขับเครื่องบินพระที่นั่งลงจอดด้วยพระองค์เองที่พาโร จึงกลายเป็นที่ยกย่องไปทั่วโลกในฐานะผู้นำที่ทรงพระปรีชาสามารถด้านการบินอย่างแท้จริง.

ดูคลิป ในหลวงขับเครื่องบินไปภูฏาน ด้านล่าง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 votes
Article Rating
Notify of
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x