ข่าวต่างประเทศ

ผวาเก้อ คนญี่ปุ่น-เอเชียตื่นตระหนก แห่ยกเลิกเที่ยวโตเกียว เชื่อหมอดูทำนายมั่ว

คำทำนายมั่ว ทำคนผวา! หมอดูพลังจิตญี่ปุ่นชี้เป้าแผ่นดินไหวโตเกียว 26 เม.ย. ไม่เกิดจริง ชาวเน็ตจวกยับ Drama-addict แนะเอาผิดแบบพม่า

กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์และสื่อต่างประเทศ เกี่ยวกับคำทำนายของหมอดูพลังจิตชื่อดังชาวจังหวัดโอกินาวะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ระบุว่าจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ (บางแหล่งอ้างถึงระดับ 8.3) บริเวณอ่าวโตเกียว ในวันที่ 26 เมษายน 2568 ที่ผ่านมานั้น ไม่เป็นความจริงและไม่ได้เกิดขึ้นตามคำทำนายแต่อย่างใด แต่กลับสร้างความตื่นตระหนกและเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

คำทำนายดังกล่าวซึ่งถูกเผยแพร่โดยสื่อหลายสำนักทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ ได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลไปทั่ว ส่งผลให้มีประชาชนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจยกเลิกแผนการเดินทางไปยังกรุงโตเกียวในวันดังกล่าว เนื่องจากยังคงเชื่อในคำทำนายของหมอดูพลังจิตผู้นี้

บนโลกออนไลน์ ความคิดเห็นของชาวเน็ตแตกออกเป็นหลายทาง มีทั้งผู้ที่แสดงความกังวล ผู้ที่เตือนว่าไม่ควรปลุกปั่นให้เกิดความตื่นตระหนก แต่ก็ยอมรับว่าการเตรียมพร้อมเป็นสิ่งที่ดี อย่างไรก็ตาม กระแสวิจารณ์ส่วนใหญ่มองว่าคำทำนายดังกล่าวขาดหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ และกล่าวหาว่าหมอดูเป็นเพียง “นักต้มตุ๋น” ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาตามที่ปรากฏในสื่อต่างประเทศหลายแห่ง ก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า โอกาสเกิดเหตุการณ์ตามคำทำนายนั้นมีน้อยมาก

ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวแตกต่างจากการเตือนภัยของทางการญี่ปุ่น ซึ่งมีการแจ้งเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในภูมิภาคคันโต (ซึ่งรวมถึงโตเกียว) ในระยะ 30 ปีข้างหน้า โดยเป็นการเตือนภัยบนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมืออย่างถูกต้อง

ประเด็นคำทำนายที่สร้างความตื่นตระหนกนี้ ยังถูกกล่าวถึงในสังคมออนไลน์ไทย โดยเพจดังอย่าง Drama-addict ได้แชร์ข่าวดังกล่าว จากเพจ World Forum ข่าวสารต่างประเทศ พร้อมแสดงความคิดเห็นในเชิงเปรียบเทียบกับกรณีการจับกุมหมอดูในประเทศเมียนมาที่ทำนายเรื่องแผ่นดินไหวเมื่อไม่นานมานี้ โดยระบุว่า “หมอดูหมอเดา ไร้สาระ น่าดำเนินคดีแบบที่พม่าทำ” สะท้อนมุมมองต่อการเผยแพร่คำทำนายที่สร้างความตื่นตระหนกโดยไม่มีมูลความจริง

ล่มไม่เป็นท่า! คำทำนายแผ่นดินไหวโตเกียว 26 เม.ย. หมอดูพลังจิตหน้าแตก
ภาพจาก Drama-addict

แม้คำทำนายแผ่นดินไหวใหญ่ในวันที่ 26 เมษายน จะไม่เกิดขึ้นจริง แต่เหตุการณ์นี้ได้จุดประเด็นสำคัญถึงผลกระทบของข้อมูลที่ขาดความน่าเชื่อถือ และความจำเป็นในการแยกแยะระหว่างคำทำนายกับคำเตือนภัยตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติอย่างมีสติและไม่ตื่นตระหนกจนเกินเหตุ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง: Drama-addict, World Forum ข่าวสารต่างประเทศ

New Nidhikant

จบการศึกษาคณะอักษรศาสตร์ เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร นักเขียนสายมูเตลู และนักอ่านไพ่ทาโรต์ โหราศาสตร์ มีความสนใจด้านข่าวการเมือง ศิลปะวัฒนธรรม แฟชั่น และสายดูดวงมูเตลู งานเขียนเน้นเนื้อหาที่เข้าใจง่าย อ่านสนุก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button