ข่าวการเมือง

“ดวงฤทธิ์ บุนนาค” ชี้ปมตึก สตง. ถล่ม นักออกแบบไม่ผิด แนะสอบคนคุมงาน

ดวงฤทธิ์ บุนนาค ชี้ปมตึก สตง. ถล่ม นักออกแบบไม่ผิด แนะสอบคนคุมงานน่าจะสนิทสนมกับคนที่เรียกรับเงิน เชื่อสืบไม่ยาก

นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบชื่อดัง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด (DBALP) โพสต์ข้อความแสดงความเห็นกรณีตึก สตง. ถล่มว่า รอดูมาหลายวันแล้ว ยังไม่เห็นหมาแก่งับเรื่องนี้ให้ถูกทางเสียที เลยขออนุญาตชี้นำซักเล็กน้อย ใน กรณีที่อาคารโดยทั่วไปเกิดปัญหาวิบัติในทางโครงสร้าง ความรับผิดชอบแรกจะต้องพุ่งไปที่ผู้ควบคุมงานหรือที่เราเรียกว่า CM หรือ Construction Management ครับ กฎหมายกำหนดให้การก่อสร้างอาคารทุกแห่งต้องมีผู้ควบคุมงานที่มีใบประกอบวิชาชีพ เพื่อควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบ

เพื่อนฝูงที่เป็นสถาปนิกแล้วรับงานราชการ จะรู้กันดีว่าจุดอ่อนสำหรับการคอรัปชั่นอยู่ตรงนี้เลย เพราะผู้ควบคุมงานจะต้องดูแลให้การก่อสร้างนั้นเป็นไปตามแบบที่ออกไว้ ผู้รับเหมาที่มีเจตนาจะเอาเปรียบ ก็จะพยายามสร้างให้ไม่ตรงแบบ พยายามจะลดข้อกำหนดคุณภาพของวัสดุ (specification) หรือวิธีการก่อสร้าง เพื่อลดปริมาณงานลงเพื่อให้ได้กำไรมากที่สุด

ใน กรณีของงานราชการ วงจรอุบาทว์จะเริ่มต้นจากการที่ผู้บริหารของหน่วยงาน มีการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้รับเหมาที่จะได้งาน ในสมัยรัฐบาล คสช. เป็นยุคที่การเรียกรับผลประโยชน์ หรือ “เงินทอน” นี้ เบ่งบานที่สุด ไม่มีหน่วยงานของรัฐหน่วยใดเลยที่มีการก่อสร้างแล้วไม่มีระบบเงินทอน ต้องทอนกันทุกงาน เมื่อเป็นรัฐบาลทหารที่ไม่มีการตรวจสอบ จึงเป็นโอกาสที่หน่วยงานราชการจะทำงบก่อสร้างกันอย่างเพลิดเพลิน เพราะการจ่ายเงินทอนนี้ ทำได้ง่ายดายเหลือเกิน ในบางโครงการก็ย่ามใจมาก จากที่เรียกกัน 10% บางทีสูงไปถึง 30% ก็มี ผู้รับเหมาที่อยากได้งานก็จำเป็นต้องรับงานกันไปทั้ง ๆ ที่รู้ว่าสร้างไม่จบแน่ เพราะเงินโดนหักไปแล้ว 30% ก็ต้องไปจบที่การทิ้งงาน จึงเห็นเป็นตึกราชการที่สร้างไม่เสร็จให้เราเห็น

โดยทั่วไป ผู้รับเหมาที่ทิ้งงานแล้วก็จะถูก black list กลับมารับงานไม่ได้อีก ถ้าอยากรับงานราชการงานอื่น ก็ต้องไปตั้งบริษัทใหม่ แต่งตัวกันเข้ามาใหม่ บริษัทที่ไม่อยากติด black list ก็ต้องพยายามสร้างงานให้จบ โดยพยายามลดต้นทุนให้มากที่สุด ซึ่งการลดต้นทุน ผู้ควบคุมงานก็จะเป็นคนที่เซ็นอนุมัติหรือไม่เซ็นให้ ผู้ควบคุมงานจึงเป็น factor สำคัญมาก เจ้าของโครงการที่เป็นหน่วยงานราชการรู้ความจริงข้อนี้ดี จึงต้องเลือกจ้างผู้ควบคุมงานที่ตนกำกับดูแลได้ สมยอมกับผู้รับเหมาก่อสร้าง ให้ลดงานก่อสร้างลงไปจากแบบ หรือจัดทำ shop drawing ที่แตกต่างไปจากแบบที่ออกไว้ เพื่อให้ผู้ควบคุมงานอนุมัติ และสามารถก่อสร้างไปได้โดยมีสัดส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้น เพื่อมาชดเชยกับ “เงินทอน” ที่ต้องจ่ายไป

ในกรณีของผู้รับเหมาบางกลุ่มจากต่างประเทศ ก็จะเข้ามาทำสัญญาในลักษณะที่มี +F คือมี package ของการกู้เงินเข้ามาด้วย ทำให้ผู้รับเหมาหลายคนที่รับงานราชการมักจะทำงานร่วมกันกับผู้รับเหมาจากต่างประเทศเหล่านี้ เพราะเขาจะมาสร้างให้ก่อน จ่ายเงินทีหลัง ซึ่งทำให้สามารถหมุนเวียนกระแสเงินได้ดีขึ้น บางทีก็ต้องไปรับงานราชการอื่นอันใหม่เพื่อเอาเงินมาโปะงานเก่า หมุนเวียนไปเช่นนี้เป็นวงจรอุบาทว์

ทั้งหมดนี้ เริ่มต้นมาจากที่มีคนเรียกรับเงินทอนคนแรกครับ มันไม่ได้ผิดที่คนออกแบบเลย ผิดที่คนคุมงานที่น่าจะสนิทสนมกับคนที่เรียกรับเงิน อันนี้น่าสืบต่อไปได้ไม่ยากเท่าไหร่

เรื่องก่อสร้างผิดจากแบบ เป็นความผิดของผู้ควบคุมงานโดยตรง ความผิดถัดมาก็ผู้รับเหมา ที่จะเป็นจำเลยสังคมต่อไป จะวิเคราะห์เรื่องการออกแบบ specification ของเหล็กเส้น คนที่อยู่ในวงการก่อสร้างเราก็ออกจะขำ เพราะเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นไปจากต้นเหตุคือการคอรัปชั่นอย่างไม่ต้องสงสัย ในกรณีนี้ ผู้ออกแบบทั้งสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ต้องนับได้ว่าซวย เพราะในงานราชการ จะไม่อนุญาตให้ผู้ออกแบบเข้าไปตรวจสอบเลย ราชการเขากำหนดเรื่องนี้ไว้โดยมีวัตถุประสงค์ให้การตรวจสอบอยู่ในมือผู้ควบคุมงานอย่างเดียว จะได้จัดการเบ็ดเสร็จทั้งต้นน้ำปลายน้ำได้ง่าย มันก็เป็นเช่นนี้มาช้านาน ผมถึงไม่ค่อยได้งานราชการ เพราะจะเข้าไปจับผิดเขาอยู่เรื่อย

ยิ่งอาคารราชการส่วนใหญ่ กฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องยื่นขออนุญาตก่อสร้างเสียด้วย ท้องถิ่นหรือ กทม. ก็ไม่มีโอกาสได้เข้าไปตรวจสอบเลย ก็เลยทำให้อาคารราชการต่างๆ เป็นแหล่งรายได้หลักในการคอรัปชั่น โดยที่ระบบราชการเองก็ถูกออกแบบไว้ให้การคอรัปชั่นนั้นราบรื่นและเป็นระบบที่สุด ผลกระทบคือ อาคารราชการทุกแห่งที่ประมูลไว้ด้วยราคากลางที่ใกล้เคียงราคาตลาด ออกแบบไว้อย่างมีคุณภาพ แต่พอสร้างเสร็จก็จะกลายเป็นเรื่องเศร้าทุกที ก็เพราะเหตุนี้

สมัย คสช. คือเป็นยุคที่การคอรัปชั่นในลักษณะนี้มีมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะข้าราชการมีอำนาจเต็ม และตึกที่เกิดปัญหาก็เป็นตึกของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเสียด้วยสิ ผมว่าผลกระทบที่เห็นมันก็น่าจะชัดเจน เวรกรรมมีจริงแหละ หน่วยงานตรวจสอบถ้าคอรัปชั่นเอง ก็ไม่มีใครตรวจสอบได้อีก ก็สันนิษฐานไว้ตามนั้นครับ

เรื่องนี้ สถาปนิกที่รับงานราชการเป็นประจำ เขาก็ไม่กล้าเล่าหรอกนะครับ เขาก็หลับตากันไป เดี๋ยวกลัวไม่ได้งาน คนพูดความจริงอย่างผม ที่ควรจะได้งานเขาก็เลยไม่ให้ ก็ไม่แปลกใจ แต่ก็ทิ้งไว้เป็นความเห็น เผื่อหมาแก่อยากงับ จะได้มีเรื่องให้งับได้สนุกกัน เพราะประเด็นแบบนี้ สรยุทธ์ไม่น่ากล้างับ มันท้าทายเกินไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Nateetorn S.

ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button