การเงินเศรษฐกิจ

เตือนลูกจ้างปากแซ่บ โพสต์ด่านายจ้าง ไล่ออกได้ ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย

กรมแรงงานเตือนลูกจ้างปากแซ่บ โพสต์ด่านายจ้าง ไล่ออกได้ ถ้าเข้าข่ายหมิ่นประมาท ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย

ในยุคที่ใคร ๆ ก็ระบายความในใจผ่านโซเชียลได้ภายในไม่กี่คลิก “ขอระบายหน่อยเหอะ เจ้านายฉันนี่มัน…” ประโยคแบบนี้อาจจะได้ไลก์ ได้แชร์ แต่ระวังให้ดี เพราะสิ่งที่คุณพิมพ์ อาจพาให้ตัวเองไปนั่งอยู่บ้านแบบไม่มีเงินชดเชยสักบาท!

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ออกมาไขข้อข้องใจแล้วว่า ถ้าลูกจ้างโพสต์บ่นนายจ้าง จริง ๆ แล้ว นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ แต่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่นั้น มันขึ้นอยู่กับว่า ข้อความที่โพสต์ไป มันแรงแค่ไหน

โพสต์บ่นเจ้านายมีสิทธิโดนไล่ออกได้

บ่นได้ แต่ต้องดู “ความแรง” ของถ้อยคำ

นายนิยม สองแก้ว อธิบดี กสร. บอกชัดว่า ถ้าข้อความที่โพสต์นั้นมีลักษณะ หมิ่นประมาทนายจ้าง ทำให้นายจ้างเสียชื่อเสียง หรือจงใจทำให้กิจการได้รับความเสียหาย แบบนี้เข้าข่ายผิดตาม มาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เลยทีเดียว

พูดง่าย ๆ คือ ถ้าบ่นแบบด่าทอตรง ๆ เหยียดหยามแรง ๆ หรือพยายามทำให้นายจ้างเสียหายต่อหน้าสาธารณชน เช่น “ไอ้นายจ้างหน้าเลือด เอาเงินลูกจ้างไปซื้อรถหรู!” แบบนี้ถือว่าแรงมาก นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้เลยโดยไม่ต้องจ่ายทั้ง ค่าชดเชย และ ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แถมอาจโดนคดีหมิ่นเพิ่มอีกต่างหากนะ!

แล้วถ้าบ่นเบา ๆ ล่ะ?

แต่ถ้าบ่นแบบขำ ๆ แต่จริงจัง เช่น “วันนี้งานเยอะอีกละ ขอกาแฟสองลิตรด่วน เจ้านายชอบงานด่วนแต่ให้ข้อมูลช้า…” แบบนี้อาจจะแสบ ๆ คัน ๆ แต่ถ้าไม่ได้จงใจทำให้ใครเสียหาย และไม่เคยมีการเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรมาก่อน นายจ้าง จะเลิกจ้างก็ต้องควักเงินจ่ายค่าชดเชยอยู่ดี

โพสต์บ่นเจ้านาย โดนเลิกจ้าง

กฎหมายแรงงานไทย ได้เงินเลิกจ้างกี่บาท

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 กรณีนายจ้างเลิกจ้างพนักงานที่ไม่ได้มีความผิดร้ายแรง ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง ดังนี้

  • หากลูกจ้างทำงานไม่ครบ 120 วัน นายจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชย ​
  • ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน​
  • ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน​
  • ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน​
  • ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
  • ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน​
  • ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไปได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน​

หากนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ลูกจ้างอาจมีสิทธิได้รับค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มเติม

บ่นได้ แต่อย่าให้บานปลาย

สุดท้ายแล้ว ฝากเตือนทั้งลูกจ้างและนายจ้างว่า การทำงานร่วมกันควรใช้ความเข้าใจมากกว่าการแขวะผ่านโซเชียล ถ้ามีปัญหา ก็ควรเปิดใจคุยกันตรง ๆ จะดีกว่า ส่วนใครมีปัญหาแรงงาน ไม่รู้จะถามใคร โทรไปเลย สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546 มีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาฟรี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงจาก: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button