
ครม. เห็นชอบ พ.ร.ก.ไซเบอร์-สินทรัพยดิจิทัล ให้ธนาคารและค่ายมือถือ ร่วมรับผิดชอบ เคสแก๊งคอลเซนเตอร์หลอก ปชช. โอนเงิน
วันนี้ (8 เม.ย.) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผบว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เสนอ ซึ่งผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อย โดยจะกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ทั้งนี้ พ.ร.ก. ดังกล่าวเป็นการเพิ่มมาตรการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์-มิจฉาชีพ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ เมื่อปรากฏพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการใช้บริการโทรคมนาคมเพื่อกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีต้องแจ้งให้ สำนักงาน กสทช. สั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น หรือผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง ระงับการให้บริการโทรคมนาคม
รวมถึงกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือนำข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ เมื่อปรากฏข้อมูลว่ามีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

อีกทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ยังได้แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการคืนเงินให้แก่ผู้เสียหาย โดยให้นำรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายกำหนดไว้ในกฎกระทรวง และเพิ่มเติมการดำเนินการกรณีที่ไม่มีผู้เสียหายหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมายื่นคำร้องภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ครบกำหนดที่ต้องยื่นคำร้องคัดค้าน หรือมีเงินที่เหลือภายหลังจากได้คืนเงินแก่ผู้เสียหายแล้ว ให้เงินดังกล่าวตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
แต่ไม่ตัดสิทธิเจ้าของเงินที่จะขอรับเงินคืนจาก ปปง. รวมถึงแก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดภาระการพิสูจน์ของหน่วยงานเอกชน โดยให้หน่วยงานเอกชนมีภาระการพิสูจน์เพื่อไม่ต้องมีความรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีกำหนดโดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำที่กำกับดูแลแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มบทกำหนดโทษ กรณีผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมาย ว่าด้วยระบบการชำระเงินและผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ระวางโทษปรับ เนื่องจากเป็นนิติบุคคล เพิ่มบทกำหนดโทษกรณีที่ที่ผู้แทนสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องรับผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เพิ่มบทกำหนดโทษกรณีที่ผู้ซื้อเลขหมายโทรศัพท์หรือผู้ขายเลขหมายโทรศัพท์ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการลงทะเบียนให้แก่ผู้ใช้บริการ ลงทะเบียนไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนด โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด
รวมถึงให้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในสำนักงานปลัดกระทรวงดีอี และกำหนดให้มีหน้าที่ เช่น แจ้งรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

อีกทั้งที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่…) โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักรแต่ให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรต้องได้รับอนุญาตตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ
รวมถึงกำหนดลักษณะที่ถือว่าเป็นการให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร เช่น มีการแสดงผลโดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นภาษาไทย สามารถเลือกชำระเงินเป็นสกุลเงินบาท มีการรับชำระเงินผ่านบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย หรือมีเงื่อนไขให้ใช้กฎหมายไทยเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ธุรกรรมซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือกำหนดให้ดำเนินคดีในศาลไทยอีกด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เคาะลดค่าไฟ เหลือ 3.99 บาท/หน่วย งวด พ.ค.-ส.ค. 68 ไม่ใช้งบรัฐหนุน
- ลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง บ้านคอนโดไม่เกิน 7 ล้าน เหลือ 0.01%
- ด่วน นายกอิ๊งค์-พรรคร่วม เห็นตรงกัน เลื่อนร่าง พ.ร.บ. กาสิโน เร่งแก้เรื่องอื่นก่อน