นกแก้วตายปริศนา หลังเจ้าของปิ้งบาร์บีคิวในบ้าน ชาวเน็ตชี้ภัยเงียบ ควันพิษกระทะ

สลด สองนกแก้วตาย หลังเจ้าของทำบาร์บีคิวในบ้าน ชาวเน็ตสงสัย ควันพิษจากกระทะเทฟลอนร้อนจัด อาจเป็นตัวการ
เว็บไซต์ต่างประเทศ soha รายงานถึงเหตุการณ์น่าสลดใจและเป็นอุทาหรณ์เตือนภัยคนรักสัตว์เลี้ยง เมื่อหญิงชาวจีนรายหนึ่งต้องสูญเสียนกแก้วที่เลี้ยงดูมานานกว่าครึ่งปีไปพร้อมกันถึง 2 ตัว อย่างปริศนา หลังจากที่เธอทำอาหารประเภทบาร์บีคิวรับประทานเองภายในบ้านเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์นี้จุดประกายให้เกิดข้อสงสัยในโลกออนไลน์ถึงภัยเงียบ ที่อาจมาจากเครื่องครัวใกล้ตัวอย่าง “กระทะเคลือบสารกันติด” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “กระทะเทฟลอน”
เจ้าของนกแก้ว ยอมรับว่า เธอเองก็ไม่แน่ใจถึงสาเหตุการตายที่แท้จริงของนกทั้งสอง แต่หลังจากโพสต์เล่าเหตุการณ์ชวนพิศวงนี้ลงโซเชียล ความคิดเห็นส่วนใหญ่ต่างพุ่งเป้าไปที่ สารเคลือบกันติด (Teflon) บนกระทะที่เธอใช้ในการทำบาร์บีคิว เกิดปฏิกิริยาความร้อนสูงจัด จนปล่อยสารพิษหรือควันพิษ (Toxic Fumes) ออกมาในอากาศ และกลายเป็นสาเหตุให้นกแก้วเสียชีวิต

ข้อมูลจากเว็บไซต์สุขภาพชื่อดัง Healthline ระบุว่า โดยทั่วไปแล้ว สารเคลือบเทฟลอน (หรือสารกลุ่ม PTFE) เป็นสารประกอบที่ปลอดภัยและมีความเสถียรในการใช้งานปกติ อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับความร้อนสูงเกิน 260 องศาเซลเซียส สารเคลือบเหล่านี้จะเริ่มสลายตัว และปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษออกมาในอากาศ
การสูดดมควันพิษเหล่านี้เข้าไป อาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ไข้ควันพอลิเมอร์” (Polymer Fume Fever) หรือ “ไข้หวัดเทฟลอน” (Teflon Flu) ในมนุษย์ได้ ซึ่งจะมีอาการชั่วคราวคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น หนาวสั่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว โดยอาการจะเริ่มปรากฏหลังสัมผัสควันพิษ 4-10 ชั่วโมง ซึ่งในสหรัฐฯ มีรายงานผู้ป่วยอาการนี้กว่า 3,600 ราย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่มีรายงานกรณีศึกษาจำนวนน้อย ที่พบผลข้างเคียงรุนแรงถึงขั้นปอดถูกทำลาย
ทำไมถึงอันตรายร้ายแรงต่อนก?
ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตววิทยาจากอังกฤษ อธิบายว่า ควันพิษจากพอลิเมอร์เหล่านี้ เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสัตว์บางชนิด โดยเฉพาะ “นก” หรือ นกแก้ว ดังในกรณีที่เกิดขึ้น เนื่องจากระบบทางเดินหายใจของนกถูกออกแบบมาให้มีอัตราการหายใจที่เร็วกว่ามนุษย์ เพื่อรองรับการบิน ทำให้พวกมันสูดดมสารพิษเข้าสู่ปอดได้รวดเร็วกว่าและในปริมาณที่มากกว่า
ดังนั้น ควันพิษจากเทฟลอนที่ได้รับความร้อนสูงจัดจึงสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อนกแก้วและนกชนิดอื่น ๆ ได้ ซึ่งภาวะนี้เรียกว่า “ภาวะพิษจาก PTFE” (PTFE Poisoning)
5 หลักการ ใช้กระทะเคลือบสารกันติด (Non-Stick) อย่างปลอดภัย
หากผู้ใช้งานต้องการหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และยืดอายุการใช้งานกระทะเคลือบสารกันติด ควรปฏิบัติตามหลักการ 5 ข้อ ดังนี้
1. เลี่ยงเครื่องครัวโลหะ ห้ามใช้ ตะหลิว ช้อน ส้อม หรือมีด ที่ทำจากโลหะกับกระทะเคลือบ เพราะจะทำให้เกิดรอยขีดข่วน ทำลายสารเคลือบ ควรใช้เครื่องครัวที่ทำจากไม้ พลาสติก หรือซิลิโคนทนความร้อนแทน
2. ห้ามใช้ฝอยขัดหม้อ การใช้ฝอยเหล็กหรือใยขัดที่แข็งจะทำลายสารเคลือบ ควรใช้ผ้านุ่มหรือฟองน้ำในการทำความสะอาด
3. หลีกเลี่ยงความร้อนสูงจัด กระทะเคลือบสารกันติดไม่เหมาะกับการทำอาหารที่ใช้ไฟแรงมาก ๆ และไม่สามารถทนอุณหภูมิสูงเป็นเวลานานได้ เช่น การทอด หรือการผัดเป็นเวลานาน เพราะเมื่ออุณหภูมิเกิน 250-260 องศาฯ สารเคลือบจะไม่เสถียร หากใช้ต่อเนื่องอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
4. เปลี่ยนทันทีเมื่อชำรุด หากพบว่าสารเคลือบกระทะเริ่มหลุดลอก มีรอยขีดข่วนลึก หรือมีคราบดำที่ขัดไม่ออก ควรหยุดใช้งานและเปลี่ยนใบใหม่ทันที
5. รอให้เย็นก่อนล้าง อย่าล้างกระทะทันทีหลังใช้งานเสร็จ เพราะการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว อาทิ จากร้อนจัดไปเย็นจัด จะเร่งให้สารเคลือบเสื่อมสภาพและหลุดร่อนได้ง่าย ควรปล่อยให้กระทะเย็นลงก่อนแล้วจึงนำไปล้าง
ทั้งนี้ เหตุการณ์น่าสลดที่เกิดขึ้น ถือเป็นเครื่องเตือนใจสำคัญสำหรับผู้ที่ใช้เครื่องครัวประเภทเคลือบสารกันติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เลี้ยงสัตว์ปีกในบ้าน ที่ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการควบคุมอุณหภูมิขณะปรุงอาหาร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สลด เฒ่าเดนมาร์ก ดื่มน้ำมะพร้าวเน่า เชื้อราขึ้นสมอง เสียชีวิตใน 26 ชม.
- อนามัยโลก เตือน “ไข้นกแก้ว” ระบาดหนัก คร่าชีวิตคนรักนกแล้ว 5 ราย
- ช็อก! นกแก้ว กัดหูเด็ก 13 ขวบเลือดอาบ หูเกือบแหว่ง อึ้งไม่ใช่ครั้งแรก