ข่าวการเมือง

สุริยะ ลั่น รถไฟความเร็วสูง เฟส 2 ไทยทำเองทั้งหมด ไม่พึ่งรับเหมาจีน

“สุริยะ” รองนายกฯ ควง รมว.คมนาคม ลั่นไทยคุมงานก่อสร้าง รถไฟความเร็วสูง “โคราช–หนองคาย” เองทุกขั้นตอน ทั้งออกแบบ–ตรวจแบบ–ลงมือสร้าง ไม่พึ่งต่างชาติ ไม่เปิดประมูลนานาชาติ ใช้วัสดุในประเทศเกือบทั้งหมด

วันที่ 2 เม.ย. 2568 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการความร่วมมือเรื่องรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 32 เกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงช่วงโคราช-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. ว่า ตอนนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังทำเอกสารประกวดราคา (TOR) คาดว่าจะเสร็จใน 2-3 เดือน แล้วจะเริ่มประกวดราคาและสร้างภายในปี 2568

เมื่อโครงการเสร็จ จะเชื่อมการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงเทพฯ กับลาวและจีน ตรงตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับการประมูลงานระยะที่ 2 จะไม่ใช้วิธีประมูลแบบนานาชาติ จะให้บริษัทรับเหมาของไทยทำ โดยยืนยันว่าทำตามกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ปี 2560

นายสุริยะ บอกอีกว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ไทยจะคุมงานก่อสร้างเองทั้งหมด ทั้งออกแบบและตรวจแบบเองด้วย แถมจะใช้วัสดุในประเทศเกือบ 100% และจะมีการตรวจสอบอย่างละเอียด มั่นใจในฝีมือวิศวกรไทยที่ได้มาตรฐานสากล และจีนก็เห็นด้วย

นอกจากนี้ ยังสั่งให้ รฟท. และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ดูแลอย่างใกล้ชิดให้การก่อสร้างปลอดภัยตามมาตรฐาน

ส่วนเรื่องแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มีนาคม 2568 และเหตุตึกถล่ม เป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องนำมาคิดใหม่เรื่องการควบคุมคุณภาพการก่อสร้างทั้งหมด โดยเฉพาะงานใหญ่อย่างรถไฟความเร็วสูง กระทรวงคมนาคมจึงสั่งให้ รฟท. ตรวจสอบคุณภาพวัสดุและการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องการรับแรงสั่นสะเทือนและต้านทานแผ่นดินไหว และจะนำบทเรียนเหล่านี้มาปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยให้ดีขึ้น

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย บอกว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงจะใช้วัสดุในประเทศเกือบ 100% โดยเฉพาะเรื่องการตรวจวัสดุก่อสร้าง ที่ต้องมีการรับรองคุณภาพทุกขั้นตอน ตั้งแต่ที่ผลิต จนถึงตอนติดตั้ง เช่น ต้องตรวจโรงงานเพื่ออนุมัติการผลิต ก่อนเอาเหล็กจากโรงงานมาใช้ต้องมีการทดสอบคุณภาพตามที่กำหนด นอกจากนี้ จะมีการทดสอบเพิ่มจากมาตรฐานไทย คือ ต้องทดสอบความทนทานของเหล็กแต่ละขนาดด้วย พอเอาเหล็กมาถึงที่ก่อสร้าง ต้องเก็บป้ายเหล็กไว้ตรวจสอบ และผู้ควบคุมงานจะสุ่มตัวอย่างไปทดสอบตามที่กำหนด ก่อนเทคอนกรีต ผู้ควบคุมงานจะสุ่มตรวจจำนวนและขนาดเหล็ก ถ้าผ่านมาตรฐานแล้วถึงจะเทคอนกรีตได้

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-โคราช ระยะทาง 250.77 กม. ตอนนี้กำลังก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จในปี 2572 ยืนยันว่าทำตามมาตรฐานสูง โครงสร้างเหล็กต่างๆ ได้มาตรฐานสากล และทราบว่าโครงการนี้ใช้เหล็กของบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) นอกจากนี้ การก่อสร้างได้ออกแบบมาให้รับมือแผ่นดินไหวได้แล้ว

ส่วนการตรวจสอบสัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. งบประมาณ 9,348 ล้านบาท ที่มี บจ. กิจการร่วมค้า ITD – CREC No.10 เป็นผู้รับเหมา ตอนนี้ได้ร่วมมือกับสถาบันเหล็กและวิศวกรผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบแล้ว คาดว่าจะรู้ผลภายใน 2 วัน

อ่านความที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button