
คลังกางมาตรการเยียวยาแผ่นดินไหว 2568 ด้านการเงินชุดใหญ่ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ธนาคารรัฐ และหน่วยงานรัฐระดมทรัพยากรเยียวยาทุกมิติ
หลังเหตุการณ์ แผ่นดินไหวรุนแรง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ล่าสุด กระทรวงการคลังได้ออก มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาด้านการเงินอย่างเร่งด่วน ตามข้อสั่งการของ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดย นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยรายละเอียดมาตรการสำคัญที่ประกาศเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งครอบคลุมทั้งการอัดฉีดงบประมาณฉุกเฉิน และการระดมความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ((Specialized Financial Institutions: SFIs) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
มาตรการแรกที่ดำเนินการทันทีคือ การที่กรมบัญชีกลางอนุมัติ ขยายวงเงินทดรองราชการ สำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (แผ่นดินไหว) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและอีก 76 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นจำนวนเงิน 200 ล้านบาท โดยมอบอำนาจให้อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สามารถนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้จ่ายในการช่วยเหลือด้านการดำรงชีพเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย และสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
ธนาคารรัฐ ตรึงมาตรการ พักหนี้-ลดดอก-เติมทุน
หัวใจสำคัญของการเยียวยาครั้งนี้ คือการผนึกกำลังของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ที่พร้อมใจกันออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอย่างพร้อมเพรียง ประกอบด้วย
ธนาคารออมสิน
นำเสนอมาตรการหลากหลาย ทั้งการพักชำระเงินต้นพร้อมลดดอกเบี้ยเหลือ 0% นานสูงสุด 3 เดือน ครอบคลุมทั้งสินเชื่อบ้าน, สินเชื่อประชาชน และสินเชื่อ SMEs นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อฉุกเฉินที่ให้วงเงินสูงสุด 20,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ย 0% นาน 3 เดือน เช่นเดียวกับสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมบ้านหรือฟื้นฟูกิจการที่ปลอดดอกเบี้ย 3 เดือนแรก
ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกค้าบุคคลและผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ โดยครอบคลุมการพักชำระเงินต้นนานสูงสุด 3 เดือนสำหรับสินเชื่อบ้าน, สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อธุรกิจเพื่อผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อบ้านได้เพิ่มเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย (ดอกเบี้ย 0% นาน 3 เดือน) และสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการ (ดอกเบี้ยคงที่เริ่มต้น 3.5% ต่อปี) โดยลูกค้ากลุ่มนี้สามารถติดต่อขอเข้าร่วมมาตรการได้ที่สาขา หรือ SCB Customer Center (0 2777 7777) ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ถึง 30 มิถุนายน 2568
สำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม SCB มี 4 มาตรการหลักช่วยเหลือ ได้แก่ การพักชำระเงินต้นสูงสุด 6 เดือน, พักทั้งต้นและดอกเบี้ยสูงสุด 3 เดือน, การเพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว (สูงสุด 20% ของวงเงินเดิม ไม่เกิน 10 ล้านบาท) และวงเงินกู้เพื่อซ่อมแซม/ทดแทนทรัพย์สิน (สูงสุด 20% ของวงเงินเดิม ไม่เกิน 10 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.5% ต่อปี) โดยสามารถติดต่อขอเข้าร่วมโครงการผ่านเจ้าหน้าที่ธุรกิจสัมพันธ์ หรือ SCB Business Call Center (0 2722 2222) ได้ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ถึง 31 ธันวาคม 2568 ทั้งนี้ ธนาคารพร้อมช่วยเหลือลูกค้าอย่างเต็มที่เพื่อก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปพร้อมกัน
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ด้าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ออกสินเชื่อฉุกเฉินประจำปี 2568 วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งคิดดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน 6.925%) แต่พิเศษคือปลอดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก พร้อมกันนี้ยังมีสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูฯ ในวงเงินสูงสุด 500,000 บาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนที่ MRR – 2% ต่อปี
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
ขณะที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มุ่งเน้นช่วยเหลือทั้งลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ ผ่านทางเลือกในการลดเงินงวดหรือลดดอกเบี้ย รวมถึงการพักชำระหนี้ นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อสำหรับซ่อมแซมหรือสร้างบ้านใหม่ วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยพิเศษในช่วงแรก และยังมีมาตรการประนอมหนี้ รวมถึงการเร่งรัดจ่ายสินไหมสำหรับผู้ที่ทำประกันอัคคีภัยกับธนาคาร
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
ส่วน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนานสูงสุดถึง 12 เดือน และยังสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนผ่านการเติมทุนฉุกเฉิน วงเงินสูงสุด 200,000 บาท คิดดอกเบี้ย MLR (ปัจจุบัน 7.3%) โดยให้ปลอดชำระเงินต้นนาน 12 เดือน
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
สำหรับ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) มีมาตรการสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมบ้านหรือฟื้นฟูกิจการในวงเงินสูงสุด 5 ล้านบาท โดยคิดอัตรากำไรพิเศษ เริ่มต้นต่ำสุดที่ 1.99% ในปีแรก
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ก็เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า ทั้งในส่วนของเงินกู้ระยะสั้นและระยะยาว ด้วยมาตรการที่ยืดหยุ่น เช่น การขยายเวลาชำระหนี้, การลดดอกเบี้ย, การพักชำระหนี้ และการพิจารณาเพิ่มวงเงินตามความจำเป็น
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
นอกจากสถาบันการเงินแล้ว บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็มีส่วนช่วยเหลือด้วยการพักชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันและค่างวดสำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ปิดท้ายด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน, SMEs และบุคคลทั่วไป ด้วยการลดค่างวดลงถึง 75% เป็นระยะเวลา 1 ปี พร้อมคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และยังมีสินเชื่อเพื่อใช้ในการซ่อมแซมบ้านหรือฟื้นฟูกิจการเพิ่มเติมอีกด้วย
คปภ. ลงพื้นที่ ประสานเคลมประกันเร่งด่วน
ด้านการประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ส่งทีมงานลงพื้นที่ประสบภัย จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือ และประสานงานกับบริษัทประกันภัยอย่างใกล้ชิด เพื่ออำนวยความสะดวกและเร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหาย พร้อมทั้งตรวจสอบข้อมูลผู้สูญหายและติดตามฐานะการเงินของบริษัทประกันภัยอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ยังเปิด สายด่วน คปภ. 1186 ให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง
ธปท. ขอความร่วมมือสถาบันการเงินทั่วประเทศช่วยลูกหนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแล ได้ออกหนังสือขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินทุกแห่ง (รวมถึงธนาคารพาณิชย์และ Non-bank) ให้พิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม อาทิ
- ปรับลดอัตราผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ
- พิจารณาให้วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินตามความจำเป็น
- ช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบธุรกิจ
- พิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยผ่อนปรนหลักเกณฑ์ และคงสถานะการจัดชั้นลูกหนี้เดิมได้
คลังย้ำเศรษฐกิจไทยแกร่ง พร้อมรับมือเต็มที่
นายพรชัย ฐีระเวช โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวปิดท้ายว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเน้นย้ำถึงความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย
“ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอให้ประชาชน นักลงทุน และผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และหน่วยงานภาครัฐพร้อมดำเนินการทุกมาตรการที่จำเป็น เพื่อให้สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ” โฆษกคลังกล่าว
กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงติดตามประเมินผลกระทบและพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมตามความเหมาะสมต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สาเหตุ ใบหยกสกาย ไม่เสียหาย หลังแผ่นดินไหว ชูดีไซน์กันเขย่า
- อายไหม SMS เว็บพนัน เตือนแผ่นดินไหว ตบหน้าราชการ ไม่มีสักฉบับ
- ปีติ ในหลวง พระกรุณา ให้ผู้ป่วย-หมอ หลบภัยแผ่นดินไหว ในพระที่นั่งเทวราชสภารมย์
อ้างอิง : ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักข่าวไทย
ติดตาม The Thaiger บน Google News: