หมอแนะนำ 5 วิธีลดความดันโลหิต แบบไม่พึ่งยา ทำตามนี้ 3 เดือนเห็นผล

‘หมอเจด’ แชร์เคล็ดลับ วิธีลดความดันโลหิตสูง แบบไม่ต้องพึ่งการกินยา แค่ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย มีวินัยต่อเนื่อง 3 เดือน การันตีเห็นผลดีขึ้นเกินคาด
“หมอเจด” หรือ นายแพทย์ เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นำเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับสุขภาพมาบอกต่อผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวอีกแล้ว ล่าสุดเจ้าตัวได้พูดถึง “วิธีลดความดันแบบไม่พึ่งยา” ซึ่งหมอเจดออกโรงรับประกันเองเลยว่าหากทำตาม 5 ขั้นตอนที่แนะนำไว้อย่างเคร่งครัด ค่าความดันโลหิตจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

วิธีลดความดันโลหิต ไม่พึ่งพาการกินยา
หมอเจดเล่าว่า ตนเองเคยน้ำหนักมากถึง 110 กิโลกรัม เป็นสาเหตุให้โรคภัยต่าง ๆ ตามมา ทั้งเบาหวาน ไขมัน ความดัน จึงอยากหาทางแก้ไขและรักษาสุขภาพ กระทั่งมาเจอสูตรลับ 5 วิธีที่ทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น และช่วยให้ความดันโลหิตลดลงอีกด้วย
1. ควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหาร
หลายคนรู้ดีว่าการบริโภคอาหารที่มีรสชาติ “เค็ม” จะทำให้ความดันสูงขึ้น แต่จริง ๆ แล้วตัวการสำคัญคือ ‘โซเดียม’ ที่ไม่ได้มีอยู่แค่ในเกลือเท่านั้น แต่ยังซ่อนอยู่ในอาหารหลายชนิด เช่น อาหารแปรรูป อาหารหมักดอง น้ำซุป ขนมกรุบกรอบ และน้ำจิ้มต่าง ๆ
ดังนั้น หากต้องการควบคุมความดัน จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียม เช่น ไส้กรอก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และซอส นอกจากนี้ควรใช้เครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมต่ำ และอ่านฉลากของอาหารทุกครั้งก่อนซื้อมาบริโภคด้วย
2. ลดน้ำหนักตัว
หลายคนอาจไม่รู้ว่า น้ำหนักตัวที่มากเกินไปล้วนมีลต่อความดันโลหิต การลดน้ำหนักเพียง 5 -10% ของร่างกาย จึงช่วยให้ความดันลดลงตามไปด้วย ทั้งยังมีผลพลอยได้ ทำให้สุขภาพดีขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นช้าลง และรู้สึกกระปรี้กระเปร่า
ทั้งนี้หมอเจดแนะนำว่าในช่วงแรกเริ่ม ให้ลองตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดน้ำหนักให้ได้ เดือนละ 2 – 3 กิโลกรัม โดยไม่ต้องเร่งรีบหรือกดดันตัวเอง แต่ให้ทำอย่างต่อเนื่อง โดยควบคุมอาหารเป็นหลัก เน้นการกินโปรตีน คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ลดแป้งขัดสีและน้ำตาลจะทำให้เห็นผลชัดเจนขึ้น
3. ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายไม่ได้ช่วยให้ร่างกายเฟิร์มขึ้น หรือน้ำหนักลดลงเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ความดันลดลงอย่างเห็นได้ชัดด้วย เนื่องจากการออกกำลังกายช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ลดแรงต้านของเส้นเลือด และทำให้หัวใจไม่ทำงานหนักจนเกินไป
ทั้งนี้หมอเจดได้เตือนว่าสำหรับการออกกำลังกายในช่วงแรก ไม่ควรหักโหมมากจนเกินไป เพราะอาจเป็นตัวเร่งให้ความดันพุ่งสูงขึ้นได้เช่นกัน
4. ลดความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ
ความเครียดและการนอนไม่พอ เป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เนื่องจากร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และอะดรีนาลีน (Adrenaline) เมื่อรู้สึกเครียด ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หลอดเลือดหดตัว รวมถึงค่าความดันที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
หากต้องการลดความดันโลหิต จึงควรบริหารเวลาพักผ่อน นอนหลับให้ได้วันละ 6 – 8 ชั่วโมงต่อวัน และฝึกหายใจลึก ๆ ฟังเพลงที่ผ่อนคลาย ทำให้จิตใจสงบ และควรหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ก่อนนอนด้วย เพราะแสงสีฟ้าที่สะท้อนออกมาจากหน้าจอ จะรบกวนการหลังฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งจะช่วยให้เราหลับสนิทได้มากขึ้น
5. งดบุหรี่และแอลกอฮอล์
หมอเจดเตือนว่าการดื่มไวน์แดงอาจส่งผลดีต่อหัวใจ แต่เฉพาะคนที่มีสุขภาพแข็งแรงเท่านั้น หากเป็นผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด เนื่องจากแอลกอฮอล์ทำให้หลอดเลือดหดตัว ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่นเดียวกับสารนิโคตินในบุหรี่ ที่จะทำให้เส้นเลือดตีบและแข็งตัวเร็วขึ้น การหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ในระยะยาว จึงช่วยให้ความดันโลหิตลดลง
อย่างไรก็ตาม แม้แพทย์จะแนะนำว่าการทำตาม 5 ขั้นตอนนี้ จะช่วยให้ความดันลดลงได้ แต่ผลลัพธ์ที่ดีควรมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระยะยาว เพราะหากกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ก็อาจมีแนวโน้มที่ความดันจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอันตรายจต่อสุขภาพได้ และสำหรับคนที่ลองทำตามแล้วความดันลดลงจนเป็นที่พอใจ หมอเจดเตือนว่าหากเลิกกินยาลดความดันด้วยตัวเองเด็ดขาด แต่ควรรับฟังคำปรึกษาจากแพทย์โดยตรง เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกายและป้องกันความเสี่ยงที่อาจตามมา.
อ้างอิง : Facebook หมอเจด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หมอเจด เตือน 5 อาหาร รสชาติไม่เค็ม ทำไตเสื่อมไม่รู้ตัว
- สะเทือนใจ สาวปวดหลังเรื้อรัง ตรวจเจอมะเร็ง แอดมิตเข้า ICU ก่อนจากไป
- อย. เตือนภัย พบ ‘ซิลเดนาฟิล’ ในผลิตภัณฑ์ เพิ่มความอึด เสี่ยงความดันต่ำ-ทำลายตา