ข่าวต่างประเทศ

ตลกร้าย คลิปชม.ศิลปะเด็กยูเครน ตั้งใจวาดรูปรถถัง บาดแผลสงครามที่ยาวนาน

ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังคงดำเนินไปในยูเครน ชีวิตของเด็กๆ ต้องเผชิญกับความยากลำบากเกินกว่าจะจินตนาการได้ เรื่องราวของพวกเขานั้น เปรียบเสมือน “เครื่องเตือนใจ” ถึงผลกระทบอันลึกซึ้งของสงครามที่มีต่อจิตใจและอารมณ์ต่อเด็กๆ เหล่านี้ โดยมีเด็กมากกว่า 50,000 คน ต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

รายงานของรอยเตอร์ เมื่อ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา บอกเล่าเรื่องราวของนิคิต้า บอนดาเรนโก้ เด็กชายประถมจากเคียฟนั่งอยู่ในชั้นเรียนศิลปะ วาดภาพรถถังอย่างตั้งใจ มีป้อมปืน มีปืนใหญ่ และทหาร 2 คนอยู่ข้างใน

“นิคิต้า” บอกว่าพ่อของเขาเป็นทหารและมักจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามให้เขาฟังอยู่เสมอ

นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เด็กยูเครนหลายคนต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความวิตกกังวลที่เพิ่มสูงขึ้น

ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ของยูเครน เผยให้เห็นว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เด็กมากกว่า 50,000 คนต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ซึ่งมากกว่าปีก่อนถึงสามเท่า และน่าเป็นห่วงว่าบาดแผลทางอารมณ์เหล่านี้อาจยังคงอยู่ แม้ว่าการสู้รบจะยุติลงในเร็ววัน

แฟ้มภาพ - นาตาลี เซฟริอูโควา แสดงปฏิกิริยาข้างบ้านของเธอหลังจากถูกโจมตีด้วยจรวดในเมืองเคียฟ ประเทศยูเครน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2022 สงครามในยูเครนที่ดำเนินมายาวนานหนึ่งปีทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายหมื่นคนทั้งสองฝ่าย ทำลายพลังงานและเสบียงอาหาร และทำให้เมืองทั้งเมืองกลายเป็นซากปรักหักพัง
แฟ้มภาพ – นาตาลี เซฟริอูโควา แสดงปฏิกิริยาข้างบ้านของเธอหลังจากถูกโจมตีด้วยจรวดในเมืองเคียฟ ประเทศยูเครน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2024 (AP Photo/Emilio Morenatti, File).

วาเลนตินา มารูเนียค ครูสอนศิลปะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของนักเรียนผ่านงานศิลปะของพวกเขา “ช่วงแรกๆ พวกเขามักจะวาดรถถัง เครื่องบิน การระเบิด แต่ตอนนี้พวกเขากำลังวาดรูปพระอาทิตย์ รุ้ง ดอกไม้ และสิ่งที่สวยงาม แม้แต่ทหารก็บอกว่าเด็กๆ เปลี่ยนไปแล้ว และความปรารถนาของพวกเขาก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง พวกเขาต้องการชัยชนะ พวกเขาต้องการความสุข พวกเขาต้องการฤดูใบไม้ผลิ พวกเขาต้องการความสงบ”

โซโลเมีย คารันดา เด็กหญิงอายุ 8 ขวบ วาดภาพทิวทัศน์ที่เธอคิดถึง เป็นภาพเครื่องบินเหนือหมู่บ้านทางตอนใต้ของยูเครน ที่ที่เคยไปเยี่ยมคุณยายซึ่งตอนนี้ต้องอพยพหนีภัยสงครามไปแล้ว การรุกรานนี้กินเวลาไป 1 ใน 3 ของชีวิตคารันดา เธอบอกว่ายังคงรู้สึกไม่สบายใจเมื่ออยู่บ้านคนเดียวในช่วงที่มีการแจ้งเตือนภัยทางอากาศ “ฉันมักจะปิดประตูห้องของตัวเองแล้วขึ้นไปบนเตียงพร้อมกับของเล่น มันทำให้รู้สึกกลัวน้อยลง”

ภาพถ่ายนี้จัดทำโดยฝ่ายบริการสื่อมวลชนของกองพลยานยนต์ที่ 65 ของยูเครน แสดงให้เห็นทหารหญิงชาวยูเครน มาเรีย วัย 22 ปี ผู้บังคับบัญชาปืนใหญ่ฮาวอิตเซอร์ D-20 กำลังเตรียมยิงโจมตีตำแหน่งของรัสเซียที่แนวหน้าในภูมิภาคซาโปริซเซีย ประเทศยูเครน เมื่อวันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ 2025
มาเรีย วัย 22 ปี ทหารหญิงชาวยูเครน ผู้บังคับบัญชาปืนใหญ่ฮาวอิตเซอร์ D-20 กำลังเตรียมยิงโจมตีตำแหน่งของรัสเซียที่แนวหน้าในภูมิภาคซาโปริซเซีย ประเทศยูเครน เมื่อ 12 ก.พ.2025 (Andriy Andriyenko/Ukraine’s 65th Mechanised Brigade via AP)

ในช่วงที่สัญญาณเตือนภัยดังขึ้น เด็กๆ จะลงไปหลบภัยในห้องใต้ดินของโรงเรียน ที่นั่นการเรียนการสอนยังคงดำเนินต่อไป ทั้งการเขียน การวาดรูป และการเต้นรำ ขณะที่ ลุยด์มิล่า ยาโรสลาฟต์เซวา ครูใหญ่พยายามที่จะสร้างความรู้สึกสงบและทัศนคติเชิงบวกให้กับเด็กๆ

“เราพยายามที่จะปกป้องพวกเขาในบางทาง แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถปกป้องพวกเขาจากทุกสิ่งทุกอย่างได้ เราพูดคุยกันเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่บางทีเราอาจไม่ได้พูดคุยกับคนรุ่นก่อน” ครูใหญ่ทิ้งท้าย.

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ของสถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) เคยระบุถึงผลกระทบของ “สมองเด็กในภาวะสงคราม” โดยระบุในช่วงอายุของเด็กปฐมวัย วงจรประสาทตอบสนองต่อ “ความเครียด” ต้องทำงานอย่างหนักและยืดเยื้อ จะส่งผลอย่างถาวรให้วงจรประสาทส่วนนี้ไวต่อความเครียดและความกังวล ซึมเศร้า มีปัญหาเรื่องอารมณ์และพฤติกรรม

ผลกระทบจากวิกฤติความรุนแรงที่ชีวิตได้รับไม่เพียงส่งผลต่อสมองของเด็ก แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบร่างกาย ทำให้มีปัญหาโรคหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับตับและปอดในวัยผู้ใหญ่สูงขึ้นอีกด้วย เซลล์ประสาทในสมองมีสภาพคล้ายกล้ามเนื้อ เมื่อถูกกระตุ้นซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องจะมีความแข็งแรง

หากไม่ได้ใช้จะค่อยเหี่ยวแห้งตายไปเหมือนต้นไม้ขาดน้ำ สมองที่เติบโตได้ดีจะเกิดจากการกระตุ้นจากสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ การมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และการได้รับการศึกษา เรียนรู้ ต้องได้เล่น เรียน ผูกสัมพันธ์กับเพื่อนและคนรอบข้าง มีกิจวัตรประจำวันที่ปลอดภัย ถึงเวลากินได้กิน ถึงเวลานอนได้นอน แต่สงครามได้มอบมรดกที่เลวร้ายฝังไว้ในตัวเด็ก นั่นคือการทำให้เด็กขาดโอกาส และเกิดความบกพร่องในการพัฒนาทั้งในสมอง ร่างกาย และจิตใจ.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx