เปิดสาเหตุ ต้าเอส เสียชีวิต แพทย์เตือน แช่น้ำร้อนขณะป่วย เสี่ยงอาการทรุดหนัก
ไข้หวัด-ปอดบวม คร่าชีวิต “ต้าเอส” แพทย์ยกเคสเป็นอุทาหรณ์ ขณะป่วยไม่ควรแช่น้ำพุร้อน ไม่เพียงเพิ่มความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน ซ้ำยังเพิ่มอัตราการแพร่ระบาดโรค
สืบจากกรณีข่าวช็อกวงการ เมื่อนักแสดงสาวคนดัง “ต้าเอส” หรือ บาร์บี้ ซู วัย 48 ปี ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ด้วยอาการไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และปอดบวม ขณะท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นในระหว่างช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ซึ่งจากนั้นก็มีรายงานเพิ่มเติมออกมาว่า นักแสดงสาวรู้สึกไม่สบายตั้งแต่ก่อนเดินทางไปญี่ปุ่น และหลังจากแช่น้ำพุร้อนที่ฮาโกเนะ อาการของเธอก็แย่ลง จนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
ข่าวการสูญเสียอย่างน่าเศร้าในครั้งนี้ ส่งผลให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากมายออกมาเตือนถึงความรุนแรงของการป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ และอันตราวยจากการแช่น้ำพุร้อนขณะป่วย
หนึ่งในนั้นคือ นายแพทย์ หวงซวน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทรวงอกและเวชบำบัดวิกฤต ที่ได้ออกมาโพสต์เตือนว่า ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่แช่น้ำพุร้อน เพราะอาจไปกดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ไอน้ำไม่ใช่การขับสารพิษ แต่เป็นการวางยาระบบร่างกาย
โพสต์บนเฟซบุ๊กของ นายแพทย์ หวงซวน ระบุข้อความไว้ดังนี้ “หลายคนคิดว่าความร้อนจากน้ำพุร้อนสามารถขับพิษได้ แต่ในความเป็นจริง ไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้นขณะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงของน้ำพุร้อนจะส่งผลต่อการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ถือเป็นการเพิ่มภาระให้กับร่างกาย และอาจทำให้เกิดโรคลมแดด หรือภาวะขาดน้ำได้
เมื่อคุณเป็นไข้หวัดใหญ่ ร่างกายของคุณกำลังต่อสู้กับไวรัส และการแช่น้ำพุร้อน อาจเร่งการเผาผลาญ และอัตราการเต้นของหัวใจ นำไปสู่อาการอ่อนเพลียที่เพิ่มขึ้น”
นอกจากนี้ ระบบทางเดินหายใจอาจได้รับผลกระทบด้วย โดยนายแพทย์หวงซวน อธิบายไว้ว่า อาการของไข้หวัดใหญ่คือการเจ็บคอ ไอ และคัดจมูก ซึ่งความชื้นสูงของน้ำพุร้อนอาจส่งผลกระทบต่อสารคัดหลั่งในทางเดินหายใจที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่การหายใจลำบาก หรือมีเสมหะสะสม สำหรับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่เป็นโรคหอบหืด หรือหลอดลมอักเสบเรื้อรังอยู่แล้ว การแช่น้ำพุร้อนอาจทำให้หลอดลมหดตัว ทำให้หายใจมีเสียงหวีด หรือหายใจลำบาก
ไม่เพียงเท่านั้น นายแพทย์หวงซวน ยังกล่าวอีกว่า การแช่น้ำพุร้อนเป็นกิจกรรมที่ต้องมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น ดังนั้นจึงง่ายต่อการแพร่เชื้อไวรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ่อน้ำพุร้อนแบบปิด หรือแออัด ผ้าขนหนู ที่นั่ง และขอบอ่างอาบน้ำในบ่อน้ำพุร้อน อาจมีไวรัสสะสมอยู่ ซึ่งนั่นจะเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค
และที่ร้ายแรงและเป็นที่น่ากังวลที่สุดก็คือ การแช่น้ำพุร้อนอาจไปยับยั้งการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อร่างกายอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันอาจหยุดชะงัก ส่งผลต่อระยะเวลาฟื้นตัวจากอาการป่วยที่นานขึ้น หรือในบางกรณีอาจทำให้อาการแย่ลง ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับ ‘ต้าเอส’ ซึ่งได้นำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรีย และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคปอดบวม และไซนัสอักเสบ
ด้วยเหตุนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่า ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการแช่น้ำพุร้อน ให้ความสำคัญกับการพักผ่อนให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นตัวจากอาการป่วย รวมทั้งควรดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำ และอาจใช้ผ้าประคบร้อน หรือแช่เท้า เพื่อส่งเสริมการไหลเวียนโลหิตร่วมด้วย
ข้อมูลจาก ettoday
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ต้าเอส ไป โรงพยาบาล 4 ครั้ง แต่ถูกขอให้กลับมากินยาที่บ้าน ก่อนเสียชีวิต
- เพจดังโยงปม ต้าเอส เสียชีวิต ชี้สาเหตุ รพ.ญี่ปุ่น ไม่ได้เปิด 24 ชม.ทุกแห่ง
- ไข้หวัดใหญ่ระบาดญี่ปุ่น ต้นเหตุคร่า ‘ต้าเอส’ ป่วยพุ่ง 3.1 แสนคน เป็นประวัติการณ์