สรุปสูตร กยศ. ปรับเกณฑ์การคำนวณหนี้แบบใหม่ เตรียมรับเงินคืน วางแผนอนาคต ต่อยอดลงทุน ปลดหนี้ สร้างชีวิตใหม่ เช็กเลยใครได้ ใครเสีย
ข่าวดีสำหรับผู้กู้ยืมเงิน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เมื่อ กยศ. ประกาศปรับสูตรคำนวณยอดหนี้ใหม่ (Recalculation) ส่งผลให้ผู้กู้ยืมกว่า 2.8 แสนราย เตรียมรับเงินส่วนเกินคืน โดยโอนผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน ส่วนผู้กู้ที่ยังมียอดหนี้คงค้าง 3.5 ล้านบัญชี สามารถปรับโครงสร้างหนี้ ขยายเวลาผ่อนชำระ และปลดภาระผู้ค้ำประกันได้
ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ดร.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ เปิดเผยว่า การคำนวณยอดหนี้ใหม่นี้ เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการ กยศ. เรื่องการปรับปรุงยอดหนี้ของผู้กู้ยืมเงิน โดยจะนำรายการที่ผู้กู้ได้ชำระเงินคืนนับตั้งแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรก มาคำนวณใหม่ ด้วยการเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ โดยมีรายละเอียดการปรับปรุงสูตรใหม่ ดังนี้
สรุปสูตรการคำนวณหนี้แบบใหม่ กยศ.
1. หักเงินต้นก่อน : เงินที่ผู้กู้ยืมชำระจะถูกนำไปหักเงินต้นก่อนเป็นอันดับแรก
2. หักดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่ : หลังจากหักเงินต้นแล้ว จึงหักดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริงในอัตรา 1% ต่อปี
3. หักดอกเบี้ยผิดนัดชำระ : สุดท้าย หักเบี้ยปรับในอัตรา 0.5% ต่อปี (ลดลงจาก 7.5% ต่อปี)
การคำนวณหนี้ใหม่นี้ ครอบคลุมลูกหนี้ กยศ. ทุกคนที่ยังมีสถานะเป็นลูกหนี้ โดย กยศ. จะเริ่มคำนวณหนี้ใหม่ให้กับลูกหนี้กลุ่มที่อยู่ในชั้นกรมบังคับคดีก่อน และกลุ่มที่คดีใกล้หมดอายุความ
วางแผนใช้เงิน กยศ. อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
1. ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย : เพื่อให้รู้จักพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเอง และสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้
2. เลือกวิธีการชำระหนี้ที่เหมาะสม : กยศ. มีวิธีการชำระหนี้หลายแบบ เช่น ผ่านธนาคาร เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือหักเงินเดือน ควรเลือกวิธีที่สะดวกและเหมาะสมกับตัวเอง
3. ชำระหนี้ให้ตรงเวลา : เพื่อหลีกเลี่ยงเบี้ยปรับ และรักษาประวัติการเงินที่ดี
เจรจาขอผ่อนผัน : หากมีปัญหาในการชำระหนี้ สามารถติดต่อ กยศ. เพื่อขอผ่อนผันการชำระหนี้ได้
ต่อยอดอนาคตหลังเรียนจบด้วย กยศ.
1. พัฒนาตนเอง : นำความรู้ที่ได้จากการศึกษาต่อด้วย กยศ. มาพัฒนาตนเอง เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงาน และสร้างรายได้ที่มั่นคง
2. วางแผนการเงิน : จัดการรายได้และค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถชำระหนี้ กยศ. ได้ตามกำหนด และมีเงินเหลือเก็บ
3. สร้างเครดิตที่ดี : การชำระหนี้ กยศ. ตรงเวลา จะช่วยสร้างเครดิตที่ดี ซึ่งเป็นประโยชน์ในการขอสินเชื่อในอนาคต
วิธีตรวจสอบยอดหนี้และลงทะเบียนขอรับเงินคืน
ผู้กู้ยืมสามารถตรวจสอบยอดหนี้ใหม่ได้ที่เว็บไซต์ www.studentloan.or.th หากพบว่ามีสิทธิได้รับเงินคืน สามารถลงทะเบียนขอรับเงินคืนได้ทันที โดย กยศ. จะโอนเงินคืนผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน
เมื่อระบบ กยศ. Connect ปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์ ยอดหนี้ใหม่จะแสดงในแอปพลิเคชันโดยอัตโนมัติ อย่าลืมตรวจสอบสิทธิ์ และติดตามข่าวสารจาก กยศ. อย่างใกล้ชิดนะครับ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กยศ. ปรับโครงสร้างหนี้ 33 จังหวัด ลดเบี้ยปรับ 100% ผ่อนสูงสุด 15 ปี เริ่มม.ค. 68
- ไม่สำนึก สาวรีวิว บิดยอดหนี้ กยศ. 5 แสนบาท หาช่องโกง ไม่จ่ายเงิน
- จุลพันธ์ เตือนอย่าเบี้ยวหนี้ กยศ. ตัดโอกาสคนรุ่นใหม่ โต้กองทุนยังไม่หมด
อ้างอิง : กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)