โบกมือลา? สหรัฐฯ สั่ง TikTok ขายกิจการหรือถูกแบน ชี้ชะตา 19 ม.ค.

วงในเผย ติ๊กต่อก วางแผนปิดกิจการหลังถูกทางการสหรัฐฯ ออกคำสั่งให้ขายกิจการหรือถูกแบนในประเทศ ภายในวันที่ 19 มกราคม 2568
หากใครที่ติดตามข่าวสารต่างประเทศนั้น อาจทราบกันดีว่าตอนนี้ยักษ์ใหญ่โซเชียลอย่าง ติ๊กต่อก (Tiktok) กำลังเจอศึกหนัก เนื่องจากบริษัทไบต์แดนซ์ (ByteDance) ผู้ให้บริการติ๊กต่อกในสหรัฐอเมริกานั้น ได้รับคำสั่งจากโจ ไบเดน (Joe Biden) ปธน. สหรัฐคนปัจจุบัน ให้ขายกิจการ หรือ ถูกแบนแพลตฟอร์มห้ามดาวน์โหลดในสหรัฐฯ ภายในวันที่ 19 มกราคม 2568 เนื่องจากกังวลเรื่องข้อมูลความมั่นคงรั่วไหลไปทางรัฐบาลจีนเพราะฐานผู้ใช้มากถึง 170 ล้านบัญชี
ต่อมา เจมส์ สตีเฟน “จิมมี่” ดอนัลด์สัน (James Stephen “Jimmy” Donaldson) หรือที่รู้กันในชื่อของ มิสเตอร์บีสต์ (MrBeast) ยูทูบเบอร์สายเกมโชว์ที่มีผู้ติดตามกว่า 344 ล้านคน ประกาศว่าเจ้าตัวมีโอกาสหารือกับมหาเศรษฐีหลายท่านถึงวิธีกอบกู้วิกฤตครั้งนี้ที่ได้ข้อสรุปว่า ตนต้องการซื้อติ๊กต่อก พร้อมโชว์ว่ามีทนายที่จะยื่นข้อเสนอให้อย่างงาม แถมมีฉากหลังเป็นสไลด์พรีเซนต์เขียนว่า “เราจะซื้อติ๊กต่อกยังไง” เป็นหลักฐานอีกด้วย
ล่าสุด (16 ม.ค.) สื่อต่างประเทศ รายงานว่า “ติ๊กต่อก” เลือกเส้นทางปิดกิจการแทนที่จะขายกิจการให้คนอื่น เนื่องจากต้องการป้องกันการกระทำผิดกฎหมายสหรัฐฯ โดยตอนนี้ฝ่ายกฎหมายของบริษัทกำลังเดินเรื่องต่อสู้ว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลสูงสุดสหรัฐฯ (U.S. Supreme Court) กำลังอยู่ในการพิจารณาว่าจะให้มีการแบนเกิดขึ้นหรือชะลอคำสั่งเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
ดังนั้นผู้ใช้ติ๊กต่อกในประเทศอื่น ๆ ที่เซิร์ฟเวอร์หรือบริการที่มีความเชื่อมโยงกับกิจการในสหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบไปด้วย ทางบริษัทจึงแก้เกมด้วยการวางแผนให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดข้อมูลส่วนตัวเพื่อเซฟเก็บเอาไว้เพื่อป้องกันการสูญหายได้ โดยหลังการแบนเกิดขึ้นนั้น ผู้ใช้งานจะเห็นกล่องข้อความ (Pop-up message) แจ้งการแบนและเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์เพื่อให้รายละเอียดสถานการณ์เพิ่มเติม
ขณะที่บลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ (Bloomberg Intelligence) วิเคราะห์เมื่อกรกฎาคม 2024 ว่า หากติ๊กต่อกต้องการขายกิจการจริงนั้น อาจได้ราคากว่า 30,000-35,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว1,037,560-1,210,490 ล้านบาท เนื่องจากมีฐานผู้ใช้มากกว่า 170 ล้านบัญชีทั่วโลก
ส่วนประเด็นข่าวลือเรื่องรัฐบาลจีนกำลังพิจารณาให้ติ๊กต่อกขายกิจการให้ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) นั้น The Hill รายงานว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
อนาคตผู้ใช้งาน “ติ๊กต่อก” ในไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป?
หากเกิดการแบนติ๊กต่อกในสหรัฐฯ ขึ้นจริง ฝั่งผู้ใช้งานในประเทศไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เนื่องจากในคำสั่งการแบนระบุว่าจะห้ามไม่ให้ดาวน์โหลดตัวแอปพลิเคชันผ่าน Store เช่น แอปเปิลสโตร์, กูเกิล เพลย์สโตร์ ฯลฯ ดังนั้นอาจเกิดคอนเทนต์ครีเอเตอร์รุ่นใหม่ได้น้อยลง แถมฟังก์ชันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริการในสหรัฐฯ จะต้องสะดุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่บริษัทที่ดูแลติ๊กต่อกอย่างเป็นทางการของประเทศไทยนั้นถูกจดทะเบียนในชื่อ บริษัท ติ๊กต๊อก ช็อป (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งไม่มีการระบุอย่างแน่ชัดว่ามีการใช้เซิร์ฟเวอร์หรือบริการใดบ้างในกิจการของไบต์แดนซ์ในรายงานข้างต้น
@mrbeast TikTok check your inbox 👀 @TikTok
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ซ้อการ์ด ดาวติ๊กต่อก ใส่ชุดชั้นในคิตตี้ อวดมุมเซ็กซี่ปนหวาน ดูนานๆแอบใจเต้น
- ใจบุญ! ‘Mr.Beast’ แจกรองเท้า 20,000 คู่ให้เด็กแอฟริกาที่ยากไร้
- คู่หยุดโลก ‘โรนัลโด้’ เตรียมนั่งคุยกับ ‘Mr.Beast’ ชมสดคืนนี้