เตรียมพร้อม ช้อปคุ้มลดหย่อนภาษี 2568 “Easy E-Receipt 2.0” เริ่มแล้ว 16 ม.ค. – 28 ก.พ. 68 เช็กลิสต์สินค้า-บริการที่ร่วมโครงการ ตรวจสอบขั้นตอนค้นหาร้านค้า
เริ่มต้นแล้ววันนี้ สำหรับมาตรการ ‘Easy E-Receipt 2.0’ กระตุ้นการใช้จ่ายของบุคคลธรรมดา ด้วยการนำค่าใช้จ่ายที่ซื้อสินค้าและบริการในประเทศที่ร่วมรายการตามจำนวนที่จ่ายจริง นำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 30,000 บาท ส่วนอีก 20,000 บาท เป็นการซื้อสินค้า OTOP หรือ วิสาหกิจชุมชนและสังคม ประชาชนต้องใช้จ่ายในระหว่างวันที่ 16 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568 เท่านั้น
หลังจากที่กรมสรรพกรเดินหน้ามาตรการ Easy E-Receipt 2.0 หลายคนอาจจะยังไม่มีไอเดียว่าในจำนวนเงิน 50,000 ที่ใช้ลดหย่อนภาษี 2568 ตามจำนวนที่จ่ายจริงนั้นสามารถซื้อสินค้าและบริการใดได้บ้าง ทางทีมงาน The Thaiger ได้รวบรวมตัวอย่างร้านค้าที่เข้าร่วมรายการมาให้ทุกท่านได้เลือกช้อปตามความชอบ จะมีร้านไหนน่าสนใจบ้างไปเลือกดูกันได้เลย
ตัวอย่างรายชื่อร้านค้าร่วมมาตรการ ‘Easy E-Receipt 2.0’
สำหรับรายชื่อร้านค้าและบริการที่เข้าร่วมโครงการลดหย่อนภาษีจำนวน 30,000 บาท ต้องเป็นร้านค้าที่สามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกท่านสามารถเลือกซื้อสินค้าได้หลายหมู่ ไม่ว่าจะเป็น สินค้าในห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต, อุปกรณ์ IT, อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
1. ร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม เช่น เซเว่น อีเลฟเว่น (7-Eleven), ซิซซ์เล่อร์ (Sizzler), สตาร์บัคส์ (Starbucks), สเวนเซ่นส์ (Swensen’s), ฮะจิบัง ราเมน, กาแฟพันธุ์ไทย และ ร้านดอยคำ
2. แบรนด์เครื่องสำอาง ได้แก่ บู๊ทส์ (Boots), บิวเทรี่ยม (BEAUTRIUM), วัตสัน (Watsons) และคีลส์ (Kiehls)
3. ร้านหนังสือและเครื่องเขียน ได้แก่ บีทูเอส (B2S), คิโนะคุนิยะ (Kinokuniya), ซีเอ็ด (Se-ed) และ ร้านนายอินทร์
4. อุปกรณ์หรือสินค้า IT เช่น เจไอบี (JIB), แอดไวซ์ (Advice), สตูดิโอ เซเว่น (Studio 7), ไอสตูดิโอ (iStudio), บานาน่า ไอที (Banana IT) และ เพาเวอร์บาย (PowerBuy)
5. สินค้าแบรนด์เนม (Luxury Brand) ประกอบด้วย ปราด้า (PRADA), ดิออร์ (Dior), ชาแนล (Chanel), เซลีน (Celine), โปโล ราล์ฟ ลอเรน (Polo Ralph Lauren), มิวมิว (Miu Miu) และ บอย (Boyy)
6. ห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต ได้แก่ ฟิวเจอร์พาร์ค และสเปลล์, ไอคอนสยาม, ท็อปส์, เดอะมอลล์, เซ็นทรัล และพารากอน
7. บ้านและเฟอร์นิเจอร์ ประกอบด้วย อิเกีย (IKEA), ดูโฮม (Dohome), โกลบอลเฮ้าส์ (Global House), เอสบี ดีไซน์ สแควร์ (SB Design Square), ลอฟท์ (Loft) และ โฮมโปร (HomePro)
8. เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เพาเวอร์บาย (PowerBuy), ไดสัน (Dyson) และ ทีฟาล์ว ออฟฟิเชียล (Tefal Official)
ส่วนจำนวนเงินที่เหลืออีก 20,000 บาท สำหรับการซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) หรือ วิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่ออุดหนุนสินค้าท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น Thanyamanee Gems, CHITA HOUSE, Kingmarind, Win Kool Film, Mantra Crafts, Tropicana Oil Co., Ltd. และ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ต.โนนสำราญ
วิธีการค้นหาร้านค้ายื่นลดหย่อน 5 หมื่นบาท ปี 2568
รายชื่อร้านค้าข้างต้นเพียงตัวอย่างที่รวบรวมมาให้เท่านั้น ยังมีร้านค้าที่ร่วมรายการอีกมากมาย ซึ่งทุกท่านสามารถเช็กร้านค้าและบริการที่สามารถออกใบเสร็จที่ออกใบรับอิเล็กทรอนิกส์และใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ เว็บไซต์กรมสรรพากร ซึ่งจะปรากฏรายชื่อร้านค้าให้ทุกท่านได้เลือกซื้อช้อปกัน ตาม 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
1. เข้าสู่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.etax.rd.go >> คลิก
2. มองหาเมนูผู้ได้รับอนุมัติ จากนั้นกด ‘เลือก’
3. ระบบจะปรากฏรายชื่อร้านที่ได้รับการตรวจสอบจากกรมสรรพากร และสามารถออกใบเสร็จที่ถูกต้องเพื่อใช้ยื่นลดหย่อนภาษี ปี 2568 ได้
8 สินค้า-บริการ ไม่ร่วมรายการ Easy E-Receipt 2.0 บ้าง
สำหรับท่านที่กำลังใช้จ่ายสนค้าและบริการเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีอย่าลืมว่ากรมสรรพกรได้กำหนดรายชื่อสอินค้าที่ไม่เข้าร่วมมาตรการไว้จำนวน 8 อย่าง เช็กให้ชัวร์ก่อนช้อป
1. ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
2. ค่าซื้อยาสูบ
3. ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
4. ค่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (รถจักรยานยนต์ รวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์) และค่าซื้อเรือ
5. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
6. ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาของมาตรการ
7. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
8. ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และค่าที่พักโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
ลักษณะใบเสร็จที่ใช้ยื่นลดหย่อนภาษีได้
กรมสรรพากรได้กำหนดลักษณะใบเสร็จสามารถใช่ยื่นลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt 2.0 ได้ ต้องเป็นเอกสารยืนยันการใช้จ่ายในรูปแบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เท่านั้น รวมทั้งต้องระบุชื่อ นามสกุลและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร หรือเลขประจำตัวประชาชน ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการอย่างชัดเจน
สำหรับประชาชนและผู้ประกอบการที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการยื่นลดหย่อนภาษี สามารถตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมสรรพกร เว็บไซต์ www.rd.go.th หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รายชื่อร้านค้า Easy E-Receipt E-tax 2568 ซื้อสินค้า ลดหย่อนภาษีได้
- Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 2568 ซื้อมือถือสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตได้ไหม
- ยื่นภาษี 2567 ปี 68 ได้เงินคืนภาษีแล้ว แนะทริก Easy E-Receipt ได้เงินให้คุ้ม