ผลศึกษาใหม่ พบสารตะกั่ว-แคดเมียมในผงเวย์โปรตีน เกินค่ามาตรฐาน ควรกังวลแค่ไหน
รายงานใหม่จาก Clean Label Project พบการปนเปื้อนสารโลหะอันตรายในผงโปรตีน โดยผงโปรตีนออร์แกนิกจากพืชและรสช็อกโกแลตมีระดับการปนเปื้อนสูงสุด สารที่พบได้แก่แคดเมียมและตะกั่ว ซึ่งมีระดับสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด
ผงโปรตีนเป็นอาหารเสริมยอดนิยม สำหรับคนต้องการสร้างกล้าม และนักเพาะกาย เพราะโปรตีนช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ให้สารอาหารที่จำเป็นสำหรับซ่อมแซมส่วนสึกหรอ
อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้สร้างความกังวลด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพ เนื่องจากตะกั่วสามารถทำลายสมองและระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลต่อพัฒนาการในเด็ก ส่วนแคดเมียมอาจรบกวนการทำงานของไต กระดูก และเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งบางชนิด
Clean Label Project ได้ศึกษาผลิตภัณฑ์ 160 รายการจาก 70 แบรนด์ผงโปรตีนยอดนิยม โดยส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการอิสระเพื่อทดสอบสารปนเปื้อน 258 ชนิด รวมถึงโลหะหนัก พทาเลต สาร PFAS และบิสฟีนอล การทดสอบพบ BPA และ BPS ในผงโปรตีนเพียง 3 ชนิด ซึ่งลดลงจากการศึกษาในปี 2018\
สำหรับโลหะหนัก พบว่า 47% ของตัวอย่าง มีสารตะกั่วและแคดเมียมเกินมาตรฐาน Proposition 65 ของแคลิฟอร์เนีย และมากกว่า 20% มีระดับสูงเป็นสองเท่าของคำแนะนำ โดยผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกมีสารตะกั่วมากกว่า 3 เท่าและแคดเมียมมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ทั่วไป
ส่วนผงโปรตีนรสช็อกโกแลตมีแคดเมียมสูงกว่ารสวานิลลาถึง 110 เท่า
ข้อวิจารณ์ต่อรายงาน แอนเดรีย หว่อง จาก สภาโภชนาการ ชี้ว่ารายงานขาดบริบทสำคัญ อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เคลลี่ จอห์นสัน-อาร์เบอร์ นักพิษวิทยาสังเกตว่ารายงานไม่ได้เปิดเผยระดับสารที่ตรวจพบจริง จึงไม่อาจประเมินอันตรายต่อมนุษย์ได้ชัดเจน
เจฟฟ์ เวนทูร่าจาก สภาโภชนาการ ตั้งข้อสังเกตว่า Clean Label Project อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากรับค่าธรรมเนียมจากบริษัทที่ต้องการใบรับรอง แต่ แจ็กลิน โบเวน ผู้บริหาร Clean Label Project ยืนยันว่ารายงานมุ่งสร้างความตระหนักด้านสาธารณสุขและผลักดันการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม
คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค
ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นต่างกัน บางคนเห็นว่าประชาชนควรกังวล เพราะการสัมผัสโลหะหนักแม้ปริมาณน้อยแต่เป็นเวลานานอาจเป็นอันตราย ขณะที่บางคนมองว่าไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก หากไม่ได้บริโภคผงโปรตีนเป็นแหล่งแคลอรีหลัก
แนวทางป้องกัน
1. เลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ
2. ศึกษาความโปร่งใสในการผลิตของแต่ละแบรนด์
3. พิจารณารับโปรตีนจากอาหารหลักแทนอาหารเสริม
4. สังเกตอาการผิดปกติและปรึกษาแพทย์หากมีข้อกังวล
ที่มา: health