สุริยะ คุมเข้ม PM 2.5 ควันดำเกิน 30% สั่งห้ามใช้รถ-ปรับ 5000 บาท
สุริยะ คุมเข้ม PM 2.5 สั่งตรวจตั้งจุดตรวจบนถนนสายหลัก-รอง เช็กรถบรรทุก รถโดยสาร ควันดำเกิน 30% สั่งห้ามใช้รถ-ปรับ 5,000 บาท
นาย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ดำเนินงานตามมาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของภาคคมนาคมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคคมนาคมขนส่งให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบ และบำรุงรักษายานพาหนะให้มีสภาพดี มีค่าควันดำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งเปลี่ยนไปใช้น้ำมันเชื้อเพลิง หรือพลังงานสะอาด เช่น น้ำมันไบโอดีเซล B10 และ B20 ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เร่งแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บเงินบนทางพิเศษ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ทุกสายทาง พร้อมทั้งได้สั่งการให้กรมทางหลวง(ทล.) กรมทางหลวงชนบท(ทช.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และหน่วยงานที่มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่างๆ เข้มงวดให้ผู้รับเหมาฉีดพรมน้ำ ทำความสะอาดล้อรถที่เข้า – ออกพื้นที่ก่อสร้าง กวาดล้างถนนที่เปื้อนดินจากการก่อสร้าง ปิดคลุมวัสดุก่อสร้างในการเก็บกองและขนย้าย
และจัดการขยะอย่างเหมาะสม ห้ามเผาเด็ดขาด ดำเนินการตามที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กำหนด รวมทั้งติดตามตรวจสอบยานพาหนะ และอุปกรณ์ในพื้นที่ก่อสร้างให้อยู่ตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด หากพบว่าไม่ผ่าน ห้ามนำมาใช้เด็ดขาดจนกว่าจะปรับปรุงให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
นอกจากนี้ได้ให้กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ออกตรวจควันดำรถบรรทุก และรถโดยสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งตั้งจุดตรวจบนถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศ หากพบค่าควันดำเกินกว่า 30% จะมีความผิดตามมาตรา 71 ฐานนำรถที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงมาใช้งาน ถูกพ่นห้ามใช้รถ และปรับ 5,000 บาททันที ทุกราย อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคม ได้พยายามส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
ด้วยการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะหลักให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขับเคลื่อนการพัฒนาเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะรอง (Feeder) ในการเชื่อมต่อการเดินทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างไร้รอยต่อ รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชน เช่น การเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และตรวจสอบ บำรุงรักษารถยนต์ให้มีประสิทธิภาพดีอยู่เสมอ ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 จากภาคคมนาคมขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คนกรุงเทพ ตายผ่อนส่ง ค่าฝุ่น PM 2.5 เท่ากับสูบบุหรี่ 4 มวน/วัน
- ใส่หน้ากากด่วน กรุงเทพคุณภาพอากาศแย่ PM2.5 สีแดง กระทบสุขภาพ
- ดร.เอ้ เตือนฝุ่นพิษ PM 2.5 ทำพ่อเข้า ICU หมอแอร์ชี้เสี่ยงโรคร้าย อายุสั้น