เช็กก่อนช้อป สินค้าและบริการใดร่วมมาตรการลดหย่อนภาษี ‘Easy E-Receipt’ ปี 2568 บ้าง ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท ระหว่างวันที่ 16 ม.ค. – 28 ก.พ. 2568
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการ ‘Easy E-Receipt 2.0’ ลดหย่อนภาษี ปี 2568 เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีหน้า เล็งกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ตามจำนวนที่จ่ายจริง และสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท หลายคนอาจเกิดข้อสงสัยว่าสินค้าใดเข้าร่วมโครงการลดหย่อนภาษีบ้าง
เช็กลิสต์สินค้า Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 2568
กรมสรรพากรเปิดรายชื่อสินค้าและบริการที่เข้าร่วม Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษีปี 2568 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ได้สูงสุด 50,000 บาท ดังนี้
ตามหลักเกณฑ์ระบุว่า การหักลดหย่อนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) แบบเต็มรูปเป็นหลักฐาน หรือผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เป็นหลักฐาน
ส่วนการหักลดหย่อนได้เพิ่มอีกตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ โดยต้องมี e-Tax Invoice แบบเต็มรูป หรือ e-Receipt เป็นหลักฐาน
1. ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
2. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
3. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
ในกรณีการจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามรายการสินค้าที่กำหนดเท่านั้น
1. ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
2. ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
3. ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
4. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
5. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
รายการสินค้าที่ไม่เข้าร่วม Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 2568
1. ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
2. ค่าซื้อยาสูบ
3. ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
4. ค่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (รถจักรยานยนต์ รวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์) และค่าซื้อเรือ
5. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
6. ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาของมาตรการ
7. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
8. ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และค่าที่พักโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
ลักษณะใบเสร็จที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ ต้องเป็นอย่างไร
นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ใบเสร็จที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ต้องเป็น ‘e-Tax Invoice’ และ ‘e-Receipt’ ที่ระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร หรือ เลขประจำตัวประชาชนของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
หากผู้เสียภาษีและร้านค้ามีข้อสงสัยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.rd.go.th หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161ส่วนร้านค้าที่ต้องการใช้ระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) สามารถติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่ร้านค้าตั้งอยู่
ข้อมูลจาก : thaigov
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เงื่อนไข Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 2568 สูงสุด 50000 บาท ช้อปอะไรได้บ้าง
- รวมข้อมูล ลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt 2567 เข้าใจง่าย ลุ้นครม.เคาะปีหน้า
- วิธีแก้ กำกับภาษี Easy E-Receipt หาย ใช้ลดหย่อนภาษี 2567