นายกอิ๊งค์ รับอ่านหนังสือค้าน MOU 44 “สนธิ” แล้ว ปัดเปิดเวทีสาธารณะ
นายกรัฐมนตรี ยอมรับ เห็นและอ่านหนังสือค้าน MOU 44 จาก “สนธิ ลิ้มทองกุล” เรียบร้อย ชี้เป็นสิทธิแสดงความคิดเห็น อยากให้ทุกคนใจเย็น
วันนี้ (12 ธ.ค.) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุถึงกรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล ยื่นหนังสือคัดค้าน MOU 44 เมื่อจันทร์ที่ผ่านมาว่า ตนเห็นและอ่านเรียบร้อยแล้ว แต่ต้องมั่นใจเรื่องประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ อยากให้ทุกฝ่ายใจเย็น เพราะไม่มีการบิดเบือนอะไร ส่วนข้อสงสัยเรื่องการฟังความเห็นนั้น ทางภาครัฐก็มีหน่วยงานรับฟังอยู่แล้ว ซึ่งเหมือนอย่างที่นายสนธิมายื่นหนังสือ ก็ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นเช่นกัน ทุกอย่างที่ได้มาเราก็รับพิจารณา เนื่องจากทราบดีว่าทุกเรื่องมีความเห็นที่แตกต่างกัน ดังนั้น จะไม่ได้เปิดเวทีสาธารณะแต่อย่างใด
ส่วนประเด็นของ MOU 44 กำลังดำเนินไปในทิศทางใดนั้น นายกฯ กล่าวว่า กำลังดูรายละเอียดว่ามีผลกระทบอะไรบ้าง ไม่ได้คิดจะเดินหน้าอะไร เพียงแต่พิจารณาในสิ่งที่มีการนำเสนอมาให้รอบคอบยิ่งขึ้น ขณะที่การตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิค JTC มีความคืบหน้าแต่ยังไม่เสร็จสิ้นดี
สื่อมวลชนจึงถามย้ำนายกฯ ว่าท่านเคยพูดไว้ว่าการตั้งคณะกรรมดังกล่าว จะเรียบร้อยหลังเดินทางกลับจากประชุมเอเปคไม่ใช่หรือ ติดขัดอะไรทำไมยังเสร็จดี “แพทองธาร” จึงให้เหตุผลว่ายังมีรายละเอียดที่อ่อนไหวพอสมควร ฉะนั้นอยากให้การตั้งขึ้นมาไม่ติดขัดเพิ่มเติม และตนก็เร่งอยู่ ไม่ได้ปล่อย
6 ข้อเรียกร้อง จากสนธิ ลิ้มทองกุล ถึงนายกฯ ปม MOU 44
1. ให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาเอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง และเขตไหล่ทวีปในทะเลด้านอ่าวไทยของประเทศไทย โดยเฉพาะเขตต่อเนื่องรอบเกาะกูด ตามบทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 52 ของหมวด 5 ในรัฐธรรมนูญ
2. ให้นายกฯ เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาส่ง MOU 2544 และ JC 2544 ต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่ เพื่อให้ได้ข้อยุติในประเด็นดังกล่าว
3. หากดำเนินการตามข้อ 2. แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า MOU 2544และ JC 2544 ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ให้ยกเลิกการเจรจา MOU 2544 และ JC 2544 เพื่อปฏิเสธเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาทันที
4. หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติ ให้คณะรัฐมนตรีเจรจากับกัมพูชาเพื่อยกเลิก MOU 2544 และ JC 2544 ทันที โดยใช้หลักการของ “เส้นมัธยะ” ในการอ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อนตามจริง แล้วนำผลของการเจรจาเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาความเห็นชอบภายใน 30 วัน จากนั้นจึงนำขึ้นกราบบังคมทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศเป็นพระราชโองการ
5. ระงับการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ตาม MOU 2544 และ JC 2544 ไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยและมีการดำเนินการให้ถูกต้อง
6. ให้จัดเวทีสาธารณะแก่ประชาชน ในการพูดคุยเรื่อง MOU 2544 และ JC 2544 โดยให้มีความคิดเห็นของผู้ที่มีความรู้ ทั้งฝ่ายที่เห็นต่าง และฝ่ายที่มีเห็นด้วย เพื่อความเป็นกลางและเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความรู้ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับผลประโยชน์ระดับประเทศไทยต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สนธิ ยื่นหนังสือ ร้องนายกฯ ยกเลิก MOU 44 ไทย-กัมพูชา มวลชนหนุน บุกทำเนียบ
- หมอวรงค์ ยื่นหนังสือร้อง นายกอิ๊งค์ ยกเลิก MOU44 อัด รบ. ไม่ทำอะไรเลย
- อนุทิน ชี้ สส.-สว. ถก MOU 44 ในสภาได้ เป็นสิทธิตามกลไก รธน. 152