ดีอี เตือน ข่าวปลอม ‘ธ.ก.ส. เปิดให้กู้ปิดหนี้ คนติดเครดิตบูโร’ ระบาดหนัก มิจฉาชีพแอบอ้างชื่อ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว พร้อมเปิด 10 อันดับข่าวปลอมที่คนสนใจมากที่สุด ส่วนใหญ่เกี่ยวกับหน่วยงานรัฐ
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ออกมาแจ้งเตือนประชาชนให้ระวังข่าวปลอม หรือ อาชญากรรมออนไลน์ที่กำลังแพร่ระบาดในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะข่าวปลอมที่เกี่ยวกับ ธ.ก.ส. เปิดให้กู้ปิดหนี้ คนติดเครดิตบูโรยื่นได้ทุกอาชีพ เพียงมีรายได้ 9,000 บาท ซึ่งมียอดแชร์สูงสุด ตั้งแต่วันที่ 15 – 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) โฆษกกระทรวงดีอี ได้เปิดเผยผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบว่า ข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดคือ คือ “ธ.ก.ส. เปิดให้กู้ปิดหนี้ คนติดเครดิตบูโรยื่นได้ทุกอาชีพ เพียงมีรายได้ 9,000 บาทขึ้นไป” หลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าเป็นข่าวเท็จ โดยธ.ก.ส. ไม่มีสินเชื่อตามเงื่อนไขดังกล่าว เป็นการนำเอาชื่อของธนาคารไปใช้ในการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต
จากการตรวจสอบพบว่าข่าวปลอมมาจากหลายแหล่งที่มา ไม่ว่าจะเป็น ข้อความที่มาจาก Social Listening, การแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official, เพจเฟซบุ๊ก หรือ เว็บไซต์ โดยข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุด 10 อันดับ มีดังนี้
10 อันดับข่าวปลอมที่คนสนใจมากที่สุด
อันดับที่ 1 : เรื่อง ธ.ก.ส. เปิดให้กู้ปิดหนี้ คนติดเครดิตบูโรยื่นได้ทุกอาชีพ เพียงมีรายได้ 9,000 บาทขึ้นไป
อันดับที่ 2 : เรื่อง ธ.ก.ส. เปิดโครงการรวมหนี้ ไม่ต้องค้ำ ไม่เช็กบูโร ยื่นได้ทุกอาชีพ รายได้ขั้นต่ำ 9,000 บาท
อันดับที่ 3 : เรื่อง ปปง. เปิดเว็บไซต์ตรวจสอบรายชื่อผู้เสียหายที่ขอรับเงินคืนหรือเงินชดเชยผู้เสียหายรายคดี
อันดับที่ 4 : เรื่อง ยื่นหลักฐานเพื่อขอสิทธิ์รับเงินคืนจากโจรออนไลน์ ผ่านเพจ Government Office Region
อันดับที่ 5 : เรื่อง ธ.ก.ส. ออกหนังสือแจ้ง 3 ขั้นตอนการปลดล็อกบัญชีที่ถูกอายัด
อันดับที่ 6 : เรื่อง ลงทุนหุ้นคาราบาว CBG รับประกันเงินทุน 100% ลงทุนระยะสั้นและกองทุนรวม รับรองโดย ก.ล.ต.
อันดับที่ 7 : เรื่อง กระทรวงยุติธรรมเปิดเพจเฟซบุ๊ก Thailand Ministry Of Justice
อันดับที่ 8 : เรื่อง เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง ติดต่อขอข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านบัญชีไลน์กระทรวงการคลัง
อันดับที่ 9 : เรื่อง กรุงไทยปล่อยสินเชื่อผ่านไลน์ ข้าราชการเงินเดือน 13,000 ขึ้นไป กู้ได้ถึง 1 ล้านบาท ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน
อันดับที่ 10 : เรื่อง เอกสารรับรองเว็บไซต์ได้รับการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
จากการตรวจสอบพบว่า ข่าวปลอมที่เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ 10 อันดับข่าวที่ผู้คนสนใจมากที่ที่สุดส่วนใหญ่เป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ สถาบันการเงินของรัฐ โดยเฉพาะโครงการสินเชื่อ และโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาผู้เสียหายจากคดีอาชญากรรมออนไลน์ อาจทำให้ผู้รับสารเกิดความเข้าใจผิด หรือสับสนได้
ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ช่องทางที่มีการพบเบาะแสข่าวมากที่สุด คือ Social Listening จำนวน 596 ข้อความ ตามมาด้วย Line Official จำนวน 17 ข้อความ และ Website จำนวน 18 ข้อความ อันดับท้ายสุดคือ ช่องทาง Facebook จำนวน 5 ข้อความ อีกทั้งมีเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 231 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 102 เรื่อง
ดังนั้น ขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ หากประชาชนต้องการแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วน 1111 (24 ชม.) หรือ Line ID: @antifakenewscenter และเว็บไซต์ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม www.antifakenewscenter.com
ข้อมูลจาก : mdes
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ยังไงแน่ เพจใหม่ทางรัฐ เช็กเงินดิจิทัล 10000 บาท รับเงินอีกที 21 พ.ย.นี้
- ยังไงแน่ กดลิงก์รับเงินดิจิทัล ได้เงิน 1 หมื่นไวกว่าแอปทางรัฐ จริงไหม?
- ผู้เชี่ยวชาญชี้ ‘อีลอน มัสก์’ และ ‘X’ เป็นแหล่งข่าวปลอม เลือกตั้งสหรัฐฯ