นักวิจัยพบ ปะการังยักษ์ ใหญ่กว่าวาฬสีน้ำเงิน อายุเกิน 100 ปี โผล่แปซิฟิก
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบปะการังขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ ขนาดใหญ่กว่า วาฬสีน้ำเงิน อายุมากกว่า 100 ปี
สำนักข่าว บีบีซี รายงานการค้นพบ ปะการังขนาดมหึมานี้ ซึ่งเป็นกลุ่มของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจำนวนมากที่เชื่อมต่อกัน ก่อตัวเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า ปะกะรังยักษ์ (Mega Coral) มีขนาดกว้าง 34 เมตร ยาว 32 เมตร และสูง 5.5 เมตร คาดว่าอาจมีอายุมากกว่า 300 ปี ทีมวิจัยกล่าวว่า มันใหญ่กว่าวาฬสีน้ำเงิน ปะการังดังกล่าวมันถูกค้นพบโดยช่างภาพวิดีโอที่ทำงานบนเรือ เนชั่นแนล จีโอกราฟิก โซไซอี้ตี (National Geographic Society) ซึ่งเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกลของมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อดูว่าได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร
“ผมไปดำน้ำในสถานที่ที่แผนที่ระบุว่ามีซากเรืออับปาง แล้วผมก็เห็นบางอย่าง” มานู ซาน เฟลิกซ์ กล่าว
เขาเรียกอินิโก ลูกชายของเขา ซึ่งเป็นเพื่อนดำน้ำ และพวกเขาก็ดำลงไปลึกกว่าเดิมเพื่อตรวจสอบ ก่อนจะบอกว่า การได้เห็นปะการัง ซึ่งอยู่ในหมู่เกาะโซโลมอน ก็เหมือนกับการได้เห็น มหาวิหารใต้ทะเล
“มันรู้สึกตื้นตันมาก ผมรู้สึกเคารพอย่างมากต่อสิ่งที่คงอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง และอยู่รอดมาได้หลายร้อยปี” มานู ซาน เฟลิกซ์กล่าว
อย่างที่ทราบกันดีว่าปะการังทั่วโลกกำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างรุนแรง เนื่องจากมหาสมุทรอุ่นขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ภาวะโลกร้อน ปะการังประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตหลายแสนตัวที่เรียกว่าโพลิป แต่ละตัวมีลำตัวและปากของตัวเอง ซึ่งเติบโตร่วมกันเป็นโคโลนี ปะการังบางชนิดมีโครงกระดูกแข็งภายนอก และเมื่อหลาย ๆ ตัวหลอมรวมกัน ก็จะกลายเป็นแนวปะการัง
แนวปะการังบางแห่ง สามารถขยายออกไปได้ในระยะทางไกลมาก ก่อตัวเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ ที่เป็นที่อยู่อาศัยของปลา และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
จากข้อมูลของ World Economic Forum แนวปะการังยังเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตของผู้คนกว่าพันล้านคน โดยการสนับสนุนการท่องเที่ยว หรือการประมง
ตัวอย่างนี้ ถูกพบในน้ำที่ลึกกว่าแนวปะการังบางแห่ง ซึ่งอาจช่วยปกป้องมันจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ที่ผิวน้ำทะเล
การค้นพบนี้ ถูกประกาศออกมาพร้อมกับการประชุมสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ COP29 ในบากู อาเซอร์ไบจาน ซึ่งกำลังพยายามที่จะ แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายเทรเวอร์ มาเนมาฮากา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสภาพภูมิอากาศของหมู่เกาะโซโลมอน กล่าวกับ สำนักข่าวบีบีซีว่า ประเทศของเขาจะภาคภูมิใจในปะการังที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้
“เราต้องการให้โลกรู้ว่า นี่เป็นสถานที่พิเศษ และจำเป็นต้องได้รับการปกป้อง” เทรเวอร์กล่าว “เราพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลเป็นหลัก เพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ ดังนั้นปะการังจึงมีความสำคัญมาก […] และเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจของเรา ที่จะต้องแน่ใจว่าปะการังของเราจะไม่ถูกทำลาย” เนื่องจากประเทศหมู่เกาะเล็ก ๆ เช่น หมู่เกาะโซโลมอน มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายมาเนมาฮากา กล่าวว่า เขาได้เห็นผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อประเทศของเขา เนื่องจากมันทำให้เกิดพายุไซโคลนที่รุนแรงมากขึ้น และกัดเซาะแนวชายฝั่ง ทำให้บ้านเรือนพังทลายลงสู่ทะเล
ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ที่เข้าร่วมการประชุม กำลังเรียกร้องเงินทุนเพิ่มเติมจากประเทศร่ำรวย เพื่อช่วยพวกเขาจ่ายสำหรับกลยุทธ์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปัจจุบัน การตัดไม้ เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศ คิดเป็น 50-70% ของรายได้จากการส่งออกประจำปีของประเทศ แต่มันทำให้เกิดมลพิษทางน้ำในระดับสูง ซึ่งสร้างความเสียหายต่อปะการังในพื้นที่
เอริค บราวน์ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ปะการัง ในการเดินทางวิจัยของเนชั่นแนล จีโอกราฟิก โซไซอี้ตี ให้ความเห็นว่า สุขภาพของปะการัง “ดูค่อนข้างดี” ในขณะที่แนวปะการังน้ำตื้นในบริเวณใกล้เคียง เสื่อมโทรมลงเนื่องจากน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น การได้เห็นโอเอซิสปะการังขนาดใหญ่ ที่มีสุขภาพดีแห่งนี้ ในน้ำที่ลึกกว่าเล็กน้อย เป็นสัญญาณแห่งความหวัง
ปะการังชนิดนี้ มีชื่อว่า Pavona clavus และเป็นที่อยู่อาศัยของกุ้ง ปู ปลา และสัตว์ทะเลอื่นๆ อายุของตัวอย่างนี้ ยังหมายความว่า มันทำหน้าที่เหมือนหน้าต่างบานหนึ่ง ที่ช่วยให้มองเห็นประวัติศาสตร์ของสภาพมหาสมุทรในอดีต นักวิทยาศาสตร์หวังที่จะศึกษา เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเติบโตของมัน
รายงานในสัปดาห์นี้ พบว่า 44% ของปะการังที่อาศัยอยู่ในน้ำอุ่น กำลังถูกคุกคามด้วยการสูญพันธุ์ จากข้อมูลของ International Union for the Conservation of Nature ซึ่งเพิ่มขึ้นหนึ่งในสาม นับตั้งแต่มีการประเมินครั้งล่าสุดในปี 2008
อ่านข่าวเพิ่มเติมที่นี่
- นาซา ตอบแล้ว “เสียงปริศนา” บนยานอวกาศสตาร์ไลเนอร์คืออะไร?
- เอนก ลั่น 7 ปี ไทย ส่งยานอวกาศ ไป โคจร ดวงจันทร์
- นักวิทย์ออสเตรเลีย สุดดีใจจับภาพ ‘เซ็กซ์หมู่’ วาฬ ช่วยฟื้นฟูประชากร
อ้างอิง : บีบีซี