ข่าวการเมือง

เสรีพิศุทธ์ ประกาศชัดพวกคลั่งชาติรับได้ แต่ “ขายชาติ” ไม่ขอทน

เสรีพิศุทธ์ อดีต สส. หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ฟาดเดือดผ่านเฟซบุ๊ก ลั่นพวกคลั่งชาติ ตัวเองรับได้ แต่พวกขาย วีรบุรุษนาแกรับไม่ได้จริงๆ ด้านคอการเมืองมองกันหลากมุม

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย แสดงความเห็นผ่านบัญชีโซเชียลของตัวเอง ด้วยเนื้อหาหนึ่งประโยคแต่ค่อนข้างฟาดกลับไปยังอีกกลุ่มซึ่งเป็นแนวคิดขั้วตรงข้ามหนักแน่นไม่น้อย

Advertisements

“พวกคลั่งชาติผมรับได้ แต่ไอ้พวกขายชาติผมรับไม่ได้จริงๆ” ข้อความจากโพส์ตล่าสุดบนเฟซบุ๊ก พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ซึ่งลงไว้เมื่อ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยต่อมาก็มีหลายคนเข้าตอบกลับโพสต์ออกความเห็นดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยมีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและเห็นต่าง

อาทิ “ผมชอบท่านมาตลอดครับ ขอให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ครับ”, “มีใครบ้างครับที่ขายชาติท่านบอกเลยคนไทยฟังอยู่”, “ในสภาก็มีเยอะครับ”, “ไทยเรามีพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศไหนบ้างครับ”, “ใจร่มๆคับท่าน ใจร้อนเสียคนมากันเยอะแล้ว ส่วนผมรับไม่ได้ทั้งคลั่งชาติและขายชาติคับ”

“เสียพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหาร ก็เสียไปแล้ว คนไทยหลายคนยังไม่สำนึก รัฐบาลนี้ให้สัญชาติไทยลูกต่างด้าวเกือบห้าแสนคน แล้วเขาเหล่านั้นจะสำนึกรักแผ่นดินจริงหรือครับ?”

ต้องยอมรับเสียงวิจารณ์หนล่าสุดที่ขนาดอดีตตำรวจซึ่งประกาศทิ้งเก้าอี้ สส. ที่นั่งเดียวของพรรคฯ เพื่อเปิดทางเลขาฯ พรรค เสียบแทนในตอนนั้น ต้องออกมาเคลื่อนไหวผ่านโซเชียล ณ ปัจจุบัน ก็สืบเนื่องมาจากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาสัญชาติ และสถานะให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาในอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม และมีบางส่วนที่ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

Advertisements

ทั้งนี้ อ้างอิงจากการชี้แจงของรัฐบาลโดย น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทยในข้อเท็จจริงแล้ว มติ ครม. ดังกล่าวเป็นการปรับแก้หลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร ให้มีขั้นตอนและระยะเวลาใหม่เพื่อให้เร่งรัดกระบวนการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่ใช้บังคับก่อนอยู่แล้ว มิได้เป็นการยกเว้นการต้องดำเนินการตามข้อกฎหมายที่อยู่แต่อย่างใด และในปัจจุบันบุคคลทั้ง 2 กลุ่ม ตามมติ ครม. ก็เป็นผู้ที่ได้ยื่นต่อทางการและอยู่ในกระบวนการเพื่อขอมีถิ่นที่อยู่ถาวร และขอมีสัญชาติแล้ว

หลักเกณฑ์ฯ ที่ผ่าน ครม. เป็นการดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความเท่าเทียมในชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวเป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ก่อนปี พ.ศ. 2542 จำนวน 3.4 แสนคน และเป็นคนไทยที่เกิดในประเทศไทย จำนวน 1.4 แสนคน แต่ติดเงื่อนไขจากกฎหมายในอดีต ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างคนไทยได้ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา เพราะไม่มีสถานะทางทะเบียน ไม่ใช่เป็นการให้สัญชาติแก่คนต่างด้าวแต่อย่างใด

ทั้งนี้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้สำรวจจัดทำทะเบียนประวัติของกลุ่มคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยไว้ในอดีตจนถึงปี พ.ศ. 2542 และสำรวจเพิ่มเติมตั้งแต่ปี 2548 – 2554 พบว่ามีกลุ่มคนไร้สัญชาติคงเหลืออยู่ทั้งสิ้น ประมาณ 4.8 แสนราย อาทิ ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน มากกว่า 20 ปี จำนวน 19 กลุ่ม ในจำนวนนี้ เป็นบุคคลบนพื้นที่สูงและชุมชนบนพื้นที่สูง ประมาณ 124,000 ราย รวมถึงผู้ที่ตกหล่นจากการสำรวจในอดีตประชากร ประมาณ 215,000 คน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรของชนกลุ่มน้อย 29,000 คน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรของบุคคลที่ไม่มีสถานะตามทะเบียนประมาณ 113,000 คน.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button