คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เคาะ ลดเงินประกันผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ประเภท 3-4-5 เริ่มรอบบิลตั้งแต่ต้นปี 2568 เป็นต้นไป
วันนี้ (28 ต.ค.) ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เผยว่าที่ประชุม กกพ. ครั้งที่ 40/2567 (ครั้งที่ 925) เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงเงื่อนไขการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ได้แก่ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3 กิจการขนาดกลาง, ประเภท 4 กิจการขนาดใหญ่ และประเภท 5 กิจการเฉพาะอย่าง ที่มีประวัติการชำระค่าไฟฟ้าดี โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ) เป็นผู้ปรับปรุงเงื่อนไขฯ ตามแนวทางที่ กกพ. ได้วางไว้ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ประเภทผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ 3 – 4 -5
1. เงื่อนไขการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้า (เดิม) : ไม่เกิน 1 เท่า สําหรับผู้ใช้ไฟฟ้า ที่ชําระตามกําหนด ในรอบ 1 ปี
- เปลี่ยนเป็น ไม่เกิน 1 เท่า ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ยย้อนหลังใน รอบปีที่ผ่านมา สําหรับผู้ ใช้ไฟฟ้าที่ชําระตาม กําหนด ในรอบ 1 ปี
- เปลี่ยนเป็น ไม่เกิน 0.8 เท่า ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ยย้อนหลังใน รอบปีที่ผ่านมา สําหรับผู้ ใช้ไฟฟ้าที่ชําระตาม กําหนด ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ กรณีผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผิดนัดชําระถูกงดจ่ายไฟฟ้า ไม่ว่ากรณีใดๆ หรือละเมิดการใช้ไฟฟ้าให้ใช้อัตรา การวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าตามเงื่อนไขเดิม
2. เงื่อนไขการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้า (เดิม) : ไม่เกิน 1.25 เท่า สําหรับผู้ใช้ ไฟฟ้าที่ผิดนัดชําระ ไม่เกิน 4 งวด ในรอบปี
- ไม่เปลี่ยน
3. เงื่อนไขการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้า (เดิม) : ไม่เกิน 1.50 เท่า สําหรับผู้ใช้ ไฟฟ้าที่ผิดนัดชําระเกิน 4 งวดใน รอบปี
- ไม่เปลี่ยน
4. เงื่อนไขการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้า (เดิม) : ไม่เกิน 2 เท่า สําหรับผู้ใช้ไฟฟ้า ที่ถูกงดจ่ายไฟฟ้า ไม่ว่ากรณีใดๆ หรือละเมิดการใช้ไฟฟ้า
- ไม่เปลี่ยน
ทั้งนี้มติดังกล่าว กำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่รอบบิลต้นปี 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. ได้มีหนังสือถึง การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เพื่อแจ้งแนวทางการปรับปรุงเงื่อนไขการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ตามมติ กกพ. ดังกล่าว พร้อมขอให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม รายละเอียดจำนวนผู้ที่ได้รับประโยชน์และจำนวนเงินที่จะได้รับเงื่อนไขการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่มีประวัติการชำระค่าไฟฟ้าดี โดยประมาณการจากข้อมูลของการใช้ไฟฟ้า และควรมีการศึกษาข้อมูลว่าในกรณีเกิดหนี้สูญจากการไม่ชำระค่าไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้ดำเนินการอย่างไรกับหนี้สูญดังกล่าว และรายงานเสนอ กกพ. ต่อไป
“กกพ. เข้าใจดีถึงภาระต้นทุนในการทำธุรกิจจากการวางหลักทรัพย์เพื่อเป็นการประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าบางประเภทและในบางอุตสาหกรรมต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูง เป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ในขณะเดียวกันคำนึงถึงคู่สัญญาคือการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายด้วย เพราะหากเกิดกรณีไม่ชำระค่าไฟฟ้า หรือค้างชำระค่าไฟฟ้าเกินกำหนด หรือละเมิดการใช้ไฟฟ้า ก็จะเป็นความเสี่ยงและเกิดภาระต้นทุนของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย
เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเองก็ต้องจ่ายกระแสไฟฟ้าไปให้ผู้ใช้ก่อนแล้วค่อยเรียกเก็บเงินค่าไฟในภายหลัง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย กกพ. จึงมีมติโดยวางกรอบให้สิทธิได้รับการลดวงเงินประกันการใช้ไฟฟ้าตามประวัติการชำระค่าไฟและสถานะหนี้คงค้างค่าไฟเป็นหลัก ซึ่งขอย้ำว่าการวางเงินประกันการชำระค่าไฟฟ้ายังคงมีความจำเป็น เพื่อไม่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องร่วมรับผิดชอบการไม่ชำระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าบางราย ดังนั้น จึงไม่สามารถยกเลิกการวางเงินประกันทั้งหมดได้” – ดร.พูลพัฒน์ กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รมช.มหาดไทย ยัน ไม่เก็บค่าไฟ ก.ย. พื้นที่น้ำท่วม ต.ค. ลด 30%
- รัฐบาลไฟเขียว! ยกเว้นค่าไฟเดือนกันยายน-ลดค่าไฟ 30% เดือนตุลาคม
- โอนเงินเยียวยาน้ำท่วม เช็กรายชื่อจังหวัด ได้เงิน 25-28 ตุลาคม 2567