ข่าวต่างประเทศ

เด็ก 1 ใน 3 ทั่วโลก สายตาสั้นขึ้น ผลจากจ้องหน้าจอมากเกินไป

งานวิจัยนานาชาติชี้ เด็กทั่วโลก 1 ใน 3 คน ประสบปัญหาสายตาสั้น ผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เผยเป็นเพราะเด็กจมไปกับการจ้องหน้าจอ

สำนักข่าวต่างประเทศ BBC รายงานถึงบทความหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร British Journal of Ophthalmology ที่ได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลจากเด็กและวัยรุ่นมากกว่า 5 ล้านคนจาก 50 ประเทศทั่วทั้ง 6 ทวีป ซึ่งผลปรากฏว่า สายตาของเด็ก ๆ ทั่วโลกกำลังแย่ลงเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันพบเด็ก 1 ใน 3 คน มีภาวะสายตาสั้น หรือไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในระยะไกลได้อย่างชัดเจน

Advertisements

สำหรับสาเหตุของปัญหานี้ นักวิจัยเผยว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากการล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19 เนื่องจากเด็ก ๆ ใช้เวลากับหน้าจอมากขึ้น และใช้เวลาน้อยลงในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และนั่นได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าสายตา

การวิเคราะห์ข้อมูลของพวกเขาเผยให้เห็นว่า ภาวะสายตาสั้นเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า ในระหว่างปี 1990 ถึง 2023 โดยเพิ่มขึ้นเป็น 36% ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นนั้น “ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนอย่างมีนัยยะสำคัญ” หลังจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19

เด็ก 1 ใน 3 ทั่วโลก สายตาสั้นขึ้น

สายตาสั้นมักจะเริ่มขึ้นในช่วงปีประถมศึกษาและมีแนวโน้มที่จะแย่ลงจนกว่าดวงตาจะหยุดการเจริญเติบโต เมื่ออายุประมาณ 20 ปี มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้มีโอกาสเกิดขึ้นมากขึ้น ซึ่งการอาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเป็นหนึ่งในนั้น

นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับพันธุกรรม ลักษณะที่เด็กได้รับมาจากพ่อแม่ แต่ก็มีปัจจัยอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ อายุที่เด็กเริ่มเข้ารับการศึกษาในสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้นว่าในสิงคโปร์และฮ่องกง ที่เด็ก ๆ นั้นเริ่มเข้าโรงเรียนตั้งแต่ยังอยู่ในวัยที่เด็กมาก หรือช่องราว ๆ 2 ขวบ ซึ่งหมายความว่า พวกเขาเริ่มใช้เวลาไปกับการเพ่งมองหนังสือและหน้าจอด้วยสายตาตั้งแต่ในช่วงวัยเด็ก ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อตาตึงและอาจนำไปสู่ภาวะสายตาสั้น

Advertisements

การศึกษาในแอฟริกาจะเริ่มต้นเมื่ออายุหกถึงแปดขวบ ภาวะสายตาสั้นพบได้น้อยกว่าในเอเชียถึงเจ็ดเท่า และในช่วงล็อกดาวน์โควิดทั่วโลก เมื่อผู้คนหลายล้านคนต้องอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลานาน สายตาของเด็กและวัยรุ่นจึงได้รับผลกระทบ

“หลักฐานที่เกิดขึ้นใหม่นี้ได้ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการระบาดใหญ่และการเสื่อมสภาพของการมองเห็นที่เร็วขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาว”

การวิจัยคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 ภาวะนี้อาจส่งผลกระทบต่อวัยรุ่นมากกว่าครึ่งหนึ่งทั่วโลก โดยเด็กผู้หญิงและหญิงสาวมีแนวโน้มที่จะมีอัตราการเกิดสูงกว่าเด็กผู้ชายและชายหนุ่ม เพราะพวกเธอมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาน้อยลงในการทำกิจกรรมกลางแจ้งที่โรงเรียนและที่บ้านเมื่อพวกเขาโตขึ้น การเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กผู้หญิง รวมถึงวัยแรกรุ่น เริ่มต้นเร็วกว่า ซึ่งหมายความว่าพวกเธอมีแนวโน้มที่จะประสบกับภาวะสายตาสั้นในวัยที่เร็วกว่าด้วย

แม้ว่าทวีปเอเชียจะถูกคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเกิดอยู่ในระดับสูงสุด เมื่อเทียบกับทวีปอื่น ๆ ทั้งหมดภายในปี 2050 โดยเกือบ 69% มีสายตาสั้น แต่ประเทศกำลังพัฒนาก็อาจจะสูงถึง 40% เลยทีเดียว

อัตราการเกิดสายตาสั้นที่สูงที่สุดคือในเอเชีย

อย่างไรก็ดี ขณะนี้สายตาสั้น หรือ ภาวะสายตาสั้น (myopia) กำลังเป็นปัญหาสุขภาพที่น่ากังวลทั่วโลก และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเด็กอีกหลายล้านคนภายในปี 2050 โดยอัตราการเกิดสายตาสั้นที่สูงที่สุดอยู่ในเอเชีย 85% ของเด็กในญี่ปุ่น และ 73% ของเด็กในเกาหลีใต้ มีภาวะสายตาสั้น รวมถึงเด็กอีกกว่า 40% ในจีนและรัสเซียก็กำลังประสบปัญหานี้เช่นกัน

ในขณะที่เด็ก ๆ ในปารากวัยและยูกันดามีอัตราการเกิดภาวะระดับสายตาสั้นน้อยที่สุด โดยอยู่ที่ประมาณ 1% ในขณะที่สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา มีระดับสายตาสั้นประมาณ 15%

สายตาสั้นไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ เลนส์พิเศษเหล่านี้สามารถชะลอการพัฒนาของสายตาสั้นในเด็กเล็กได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ อัตราสายตาสั้นที่สูงอาจนำไปสู่อาการผิดปกติทางสายตาจำนวนมากเมื่ออายุมากขึ้น

สัญญาณของสายตาสั้นมีอะไรบ้าง?

  • อ่านตัวหนังสือจากระยะไกลได้ยาก เช่น อ่านกระดานไวท์บอร์ดที่โรงเรียน
  • นั่งใกล้ทีวีหรือคอมพิวเตอร์ หรือถือโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตไว้ใกล้หน้า
  • ปวดหัว
  • ขยี้ตาบ่อย ๆ

สายตาสั้นไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button