บันเทิงภาพยนตร์

เปิดประวัติ “ปอบตาพวง” ตำนานผีปอบของอุตรดิตถ์ใน “ธี่หยด2”

ปอบตาพวง ผีปอบตัวแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่มีการบันทึกไว้ในหนังสือ วชิรญาณวิเศษ และจะถูกถ่ายทอดเรื่องราวในภาพยนตร์ ธี่หยด2

“ผมหงอกขาวทั้งศีรษะ รูปร่างแหละผิวเนื้อเกลี้ยงเกลาผิดกว่าปรกติลาวโดยมาก ใครได้เห็นแกแม้แต่หนเดียว ถึงจะไปเจอที่ไหนอีก ก็เปนต้องจำได้” นี่คือเนื้อหาที่ถูกจดบันทึกจากเหตุการณ์ช่วงเดือนพฤศจิกายน ร.ศ.111 ในจังหวัดอุตรดิตถ์ เกี่ยวกับชายคนหนึ่งชื่อ “ตาพวง” ซึ่งเป็นคนไม่พูดไม่จา ไม่มองหน้า ไม่สบตาคนเก็บเนื้อเก็บตัวไม่สุงสิงกับใคร รวมถึงมีพฤติกรรมแปลก ๆ เช่น การกินของดิบ และไม่ยอมหลับยอมนอน เมื่อมีเหตุการณ์ตายที่ไม่ทราบสาเหตุ ก็หนีไม่พ้นถูกกล่าวหาว่าเป็น “ผีปอบ” ที่เรื่องเล่าของปอบตาพวง กำลังจะถูกถ่ายทอดในภาพยนตร์สยองขวัญ ธี่หยด2

Advertisements

ปอบคืออะไร

ปอบ คือผีจำพวกหนึ่ง ตามความเชื่อพื้นบ้านของไทย โดยเฉพาะแถบภาคอีสาน เชื่อกันว่าเป็นผีที่กินของดิบ ๆ สด ๆ กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม โดยมีความเชื่อว่า ผู้ที่จะกลายเป็นปอบ มักเกิดจากผู้เล่นคาถาอาคม หรือคุณไสย พอรักษาคาถาอาคมที่มีอยู่กับตัวไม่ได้ หรือกระทำผิดข้อห้ามของเลยเข้าตัว ในภาษาอีสานจะเรียกว่า “คะลำ” ซึ่งผู้ที่เป็นปอบจะเป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยผีปอบเป็นเพียงดวงจิตวิญญาณที่เข้าแฝงร่างสิงสู่คนและใช้ร่างหรือรูปลักษณ์ของคน ๆ นั้น ไปกระทำการไม่ดีต่าง ๆ และเชื่อด้วยว่า หากวิญญาณปอบเข้าสิงสู่ผู้ใด จะกินตับไตไส้พุงของผู้ที่โดนสิงจนกระทั่งตาย ผู้ที่โดนกินจะนอนตายเหมือนกับนอนหลับไม่มีบาดแผล ซึ่งเรียกกันว่า “ใหลตาย” นั้นเอง

เรื่องเล่าในตำนานของ ปอบตาพวง เรื่องราวปอบตัวแรกที่ถุกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของไทยที่จะถูกถ่ายทอดลงในภาพยนตร์ ธี่หยด2

ปอบ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ปอบธรรมดา คือ ผู้ที่มีปอบสิงอยู่ในร่าง โดยที่ตัวเองก็เป็นปอบ เมื่อเจ้าของร่างตายไป ปอบที่สิงสู่อยู่ก็จะตายตามไปด้วย
2. ปอบเชื้อ คือ ครอบครัวใดพ่อแม่เป็นปอบ เมื่อพ่อแม่ตายไป ลูกหลานจะสืบทอด เป็นปอบต่อไปเรื่อย ๆ
3. ปอบแลกหน้า คือ ปอบเจ้าเล่ห์ เอาความผิดโยนให้ผู้อื่น เวลาไปเข้าสิงใคร เมื่อถูกสอบถามว่ามีผู้ใดเลี้ยงหรือบังคับ ปอบจะไม่บอกความจริง แต่ไปกล่าวโทษว่าเกิดจากการกระทำของคน ๆ นั้น

ผู้ที่ถูกปอบเข้าสิง จะมีอาการเปลี่ยนไป เป็นดุร้าย รำพึงรำพันต่าง ๆ นานา จดจำบุคคลคุ้นเคยหรือคนในครอบครัวไม่ได้หรือไม่ก็กินอาหารดิบ ๆ กินมากเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักอิ่ม

เรื่องเล่าในตำนานของ ปอบตาพวง เรื่องราวปอบตัวแรกที่ถุกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของไทยที่จะถูกถ่ายทอดลงในภาพยนตร์ ธี่หยด2
Folklore: Pob (HBO Asia)

ทางมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ อธิบายว่า ความเชื่อเรื่องปอบนั้นเป็นกลไกการสร้างความเชื่อของคนในชุมชน เนื่องจากไม่วางใจบุคคลแปลกหน้าหรือแม้แต่กระทั่งคนในชุมชนเดียวกันเอง ที่มีพฤติกรรมแปลกออกไป ซึ่งในสมัยโบราณ บุคคลที่โดนกล่าวหาว่าเป็น ปอบ จะถึงกับถูกขับไล่ให้ออกจากชุมชนที่อยู่อาศัย

Advertisements

ตำนานปอบตาพวง ผีปอบตัวแรกที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ไทย

ส่วนเรื่องราวของ ปอบตาพวง เป็นเรื่องเล่าที่ถูกบันทึกในหนังสือ “วชิรญาณ” เป็นหนังสือชุดซึ่งพิมพ์ระหว่างปี 2427 ถึง 2448 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เผยแพร่ในนามหอพระสมุดวชิรญาณ เนื้อหาของหนังสือชุดนี้จะเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศาสนา วรรณคดี ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ พระราชพิธี การต่างประเทศ การท่องเที่ยว สุภาษิต คำสอน และตำราวิชาการด้านต่าง ๆ โดยบันทึกของปอบตาพวง เกิดขึ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน ร.ศ.111 หรือช่วงปี พ.ศ. 2435 ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ในวชิรญาณ เล่มที่แปด แผ่นที่สิบ ใช้ชื่อเรื่องว่า “อำนาจผีปอบ”

เรื่องเล่าในตำนานของ ปอบตาพวง เรื่องราวปอบตัวแรกที่ถุกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของไทยที่จะถูกถ่ายทอดลงในภาพยนตร์ ธี่หยด2

เหตุเกิดขึ้นจากชายต่างถิ่น นามว่า “ตาพวง” จากคำบอกเล่าเขาน่าจะเป็นชาวลาว ที่ล่องแพมาขึ้นที่ท่าเรือวัดปากฝาง แขวงเมืองอุตรดิตถ์ เมื่อเจ้าอาวาสวัดเห็นตาพวงไม่มีที่อยู่อาศัยจึงอนุญาติให้ใช้พื้นที่ว่างบริเวณวัด ปลูกกระท่อมอยู่อาศัย

เวลาต่อมาคนแถวนั้นล้มป่วยขึ้นมาอย่างไม่ทราบสาเหตุ จนต้องพึ่งพา หมอผี ก่อนจะถูกระบุสาเหตุว่าเกิดจาก “ปอบเข้า” ด้วยความที่ ตาพวง เป็นคนต่างถิ่น เก็บเนื้อเก็บตัวไม่สุงสิงกับใคร กินของที่ไม่น่ากิน และไม่ยอมหลับยอมนอน เลยถูกมองว่าเป็นอาการเหล่านี้เป็นอาการของ ผีปอบ ทำให้ชาวบ้านแถบนั้นตั้งเป้าโยนความผิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้แก ยังไม่พอเหล่าชาวบ้านพากันรวมตัวไปเผากระท่อมของตาพวงช่วงกลางวันแสก ๆ โดยมีพระสงฆ์ร่วมเผาด้วย

ท้ายที่สุดตาพวงต้องหนีออกจากเมืองอุตรดิตถ์ ระหกระเหเร่รอนไปไหนก็ไม่มีใครทราบได้ และข้อเท็จจริงว่าแกเป็น ผีปอบ ตามคำกล่าวหาของชาวบ้านจริงหรือไม่ ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน

เรื่องเล่าที่เป็นตำนานนี้เองทำให้คุณ กฤตานนท์ เจ้าของเรื่องสยองสุดโด่งดัง ธี่หยด นำมาเป็นวัตถุดิบในการเสริมแต่งนิยายชุด ธี่หยด ภาค 2 สิ้นเสียงครวญคลั่ง รวมถึงเรื่องเล่าของตาพวงจะไปปรากฏบนแผ่นฟิล์มกับภาพยนตร์ ธี่หยด 2

เรื่องเล่าสู่เรื่องราวบนแผ่นฟิล์ม

ตำนานของปอบตาพวงได้กลายเป็นแรงบันดาลใจหลักสำหรับคุณกฤตานนท์ เจ้าของเรื่องสยองขวัญชื่อดัง “ธี่หยด” ซึ่งนำมาเสริมแต่งในนิยายชุด “ธี่หยด ภาค 2 สิ้นเสียงครวญคลั่ง” รวมถึงจะปรากฏในภาพยนตร์ “ธี่หยด 2”

ส่วนเนื้อหาของภาพยนตร์ ปอบตาพวง เป็นเบาะแสสำคัญของลุงยักษ์ที่กำลังออกตามล่าผีชุดดำ หลังจากกระท่อมถูกเผา ตาพวงก็หลบหนีไปยัง ดงโขมด ป่าที่เต็มไปด้วยผีสาง เพื่อหลบซ่อนจากผู้คน ทำให้ผีชุดดำหลุดจากอำนาจการควบคุมและเริ่มกัดกินชาวบ้าน จนได้พบกับยายช่วยใน “ธี่หยด” ภาคแรก ติดตามบทสรุปเรื่องราวทั้งหมดในโรงภาพยนตร์ 10 ตุลาคมนี้

ส่วนใครอยากจะรู้เรื่องราวของตาพวง รวมถึงบทสรุปเรื่องราวสุดสยองของ ธี่หยด ทั้งสองภาค สามารถไปหาซื้อนิยายมาอ่านเพื่อเพิ่มอรรถรส ก่อนจะไปรับชมเวอร์ชั่นภาพยนตร์กันได้ หากซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ของ B2S จะได้รับส่วนลด 20% อีกด้วย สั่งซื้อผ่านลิ้งค์ด้านล่างได้เลย

  • ธี่หยด แว่วเสียงครวญคลั่ง >> คลิก
  • ธี่หยด สิ้นเสียงครวญคลั่ง >> คลิก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

somkiar

นักเขียนสายรีวิว ดีกรีแอดมินเพจ ชอบเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร เนิร์ดหนังและซีรีส์ตัวพ่อ เอนจอยการถ่ายรูปและงานนิทรรศการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button