ข่าวธุรกิจเศรษฐกิจ

เริ่มต้นธุรกิจใหม่ หรือ เข้าซื้อธุรกิจที่มีกำไร เทียบ 2 เส้นทางสู่ความสำเร็จ

ไม่ว่าคุณจะเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือเป็นผู้ประกอบการอยู่แล้ว หากสนใจมองหาลู่ทาง เริ่มต้นเส้นทางเจ้าของธุรกิจ จะเป็นการปั้นแต่งธุรกิจใหม่ หรือหาซื้อธุรกิจเดิมที่มีกำไรดีจากศูนย์รวมซื้อขายธุรกิจเช่น Max Solutions https://maxsolutions.co.th/buy/ ล้วนต้องพิจารณาถึงข้อดี-ข้อเสีย ความแตกต่างระหว่างเริ่มต้นธุรกิจใหม่ด้วยตนเอง กับสานต่อขยับขยายธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้วให้เติบโต และเกิดประสิทธิภาพ สร้าง ผลกำไรสูงสุด ให้คุ้มค่ากับเงินลงทุน ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ และความเปลี่ยนแปลงของตลาดในปัจจุบันได้อย่างไร

เริ่มต้นธุรกิจต้องเตรียมตัวอย่างไร

การเริ่มต้นธุรกิจด้วยตัวเอง ต้องเตรียมตัวอย่างไร จุดอ่อนอะไรที่ต้องระวัง

การเริ่มต้นสร้างธุรกิจด้วยตัวเองตั้งแต่ศูนย์ หรือที่ปัจจุบันเรียก “สตาร์ทอัป” ฟังดูน่าตื่นเต้นและท้าทาย เป็นโมเดลธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากในหมู่นักธุรกิจรุ่นใหม่ แต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงและอุปสรรคหลายด้าน

ดังนั้น หัวใจหลักที่คนลงสนามต้องเรียนรู้เพื่อให้ธุรกิจไปรอด คือการพิจารณาตั้งแต่การสร้างไอเดีย วางแผนธุรกิจ ไปจนถึงการหาแหล่งเงินทุน

1. สร้างไอเดียและวางแผนธุรกิจ

ไอเดียที่แข็งแกร่งคือหัวใจสำคัญของธุรกิจ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่มีอยู่ หรือสามารถสร้างตลาดใหม่ขึ้นมาได้ ที่สำคัญคือต้องมีจุดเด่นที่แตกต่างและเหนือกว่าคู่แข่ง การวิเคราะห์ตลาดอย่างละเอียดจะช่วยให้คุณเข้าใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมายและความต้องการของพวกเขาได้อย่างลึกซึ้ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตรงใจและแก้ปัญหาของลูกค้าได้อย่างแท้จริง

แผนธุรกิจเปรียบเสมือนแผนที่นำทางบ่งบอกทิศทางเป้าหมายธุรกิจของคุณ ในการเขียนแผนธุรกิจ ควรประกอบไปด้วยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ กลุ่มเป้าหมาย กลยุทธ์ทางการตลาด คุณจะนำเสนออะไรให้กับลูกค้า, แผนการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการเงิน คุณควรมีการประมาณการรายรับและรายจ่ายอย่างละเอียด แหล่งที่มาของเงินทุน หามาได้จากไหน เพื่อให้เห็นภาพรวมของสถานะทางการเงินและความเป็นไปได้ในการทำกำไร ช่วยให้คุณสามารถระบุความเสี่ยงและโอกาสต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ทำให้คุณสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. จดทะเบียนธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย

การจัดตั้งธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมายเป็นขั้นตอนสำคัญที่ห้ามละเลยเด็ดขาด เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องรายได้ และการจ่ายภาษี

ก่อนอื่นคุณต้องเลือกประเภทธุรกิจที่เหมาะสมกับลักษณะและขนาดของกิจการ โดยทั่วไปแล้วมีตัวเลือกหลัก ๆ เช่น บริษัทจำกัด หรือ ห้างหุ้นส่วน ซึ่งแต่ละประเภทมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป การปรึกษาทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและมั่นใจ

เมื่อเลือกประเภทธุรกิจได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการจดทะเบียนธุรกิจ โดยดำเนินการผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระบวนการนี้อาจมีรายละเอียดและเอกสารที่ต้องเตรียมแตกต่างกันไปตามประเภทธุรกิจ ดังนั้นควรศึกษาข้อมูลและเตรียมตัวให้พร้อมล่วงหน้า

ธุรกิจบางประเภทยังต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการเฉพาะด้วย เช่น ร้านอาหารต้องมีใบอนุญาตจากสำนักงานเขต หรือโรงงานต้องมีใบอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม คุณควรตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าธุรกิจของคุณต้องมีใบอนุญาตอะไรบ้าง และดำเนินการขอให้เรียบร้อยก่อนเริ่มดำเนินธุรกิจ การดำเนินธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตอาจทำให้เกิดปัญหาทางกฎหมายจนส่งผลกระทบต่อธุรกิจของคุณได้ในอนาคต

3. หาแหล่งเงินทุน

คุณต้องคำนวณค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นและดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าสถานที่ ค่าอุปกรณ์สำนักงาน ค่าวัตถุดิบ เงินเดือนพนักงาน ค่าการตลาด และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทำประมาณการรายรับและรายจ่ายอย่างละเอียด ขั้นตอนต่อไปคือการพิจารณาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณ

เงินทุนส่วนตัวอาจเป็นทางเลือกแรกที่หลายคนนึกถึง แต่หากไม่เพียงพอ การกู้ยืมจากธนาคารหรือสถาบันการเงินก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะได้เงินก้อนใหญ่กว่า แต่แลกด้วยภาระดอกเบี้ยและความเสี่ยงทางการเงินหากธุรกิจประสบปัญหาขาดทุน

สำหรับสตาร์ทอัปที่มีศักยภาพสูง การนำแผนธุรกิจไปขอระดมทุนจากนักลงทุนอาจเป็นทางเลือกที่ผ่านง่ายกว่า นักลงทุนเหล่านี้ไม่ได้เพียงแค่ให้เงินทุน แต่ยังมาพร้อมกับความรู้ ประสบการณ์ และเครือข่ายที่สามารถช่วยให้ธุรกิจของคุณเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่อาจต้องแลกกับ การสูญเสียส่วนแบ่งการเป็นเจ้าของ หรือการถูกแทรกแซงการบริหารงาน

หลังจากดำเนินการ 3 ขั้นตอนหลักด้านบนเสร็จสิ้น ต่อมาคือการเตรียมความพร้อมด้านอื่น ๆ ที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณเติบโตและประสบความสำเร็จ การสร้างทีมงานที่แข็งแกร่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจ คุณควรเฟ้นหาผู้ร่วมงานที่มีความสามารถหลากหลายและทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ พนักงานควรมีทัศนคติที่ดี มุ่งมั่น และมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะธุรกิจเกิดใหม่ ต้องการความคิดสร้างสรรค์ ความทุ่มเท จากพนักงานอย่างมาก เพื่อให้พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการออกมาตรงใจลูกค้ามากที่สุด

ข้อเสียของการสร้างธุรกิจเองที่ต้องระวัง

1. เวลา

หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัปต้องเผชิญคือการลงทุน “เวลา” มหาศาล การสร้างธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นจนเติบโตต้องใช้เวลาและความทุ่มเทอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การหาลูกค้า และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนต้องใช้เวลากับความพยายามอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบที่ตามมา เช่น ในช่วงแรกผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับปัญหา “ไม่มีเวลาพักผ่อน” อย่างเพียงพอ การทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัป ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพกายและใจในระยะยาว นอกจากนี้ การขาดเวลาพักผ่อนยังอาจทำให้เกิดความเครียดสะสม ประสิทธิภาพการทำงานลดลงได้

“ไม่มีเวลาให้ครอบครัวและคนรอบข้าง” การทุ่มเทเวลาให้กับธุรกิจมากเกินไปอาจทำให้ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดห่างเหินลง ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส ลูก หรือเพื่อนฝูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสุขในชีวิตส่วนตัวและสร้างความรู้สึกโดดเดี่ยวได้

นอกจากเวลาที่เสียไปแล้ว ยังรวมถึงเวลาของการรอคอยด้วย จากสถิติพบว่าสตาร์ทอัปที่ประสบความสำเร็จจะต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี ถึงจะเริ่มทำกำไรได้ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายเนื่องจากต้องใช้เวลาในการสร้างฐานลูกค้าและขยายธุรกิจ ในช่วงเวลานี้ สตาร์ทอัปมักจะมีค่าใช้จ่ายสูงและรายได้ต่ำ

การเติบโตของสตาร์ทอัปเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป ต้องใช้ความมานะอดทน เมื่อธุรกิจเติบโตเต็มที่ ค่าใช้จ่ายจะลดลงและรายได้จะเพิ่มขึ้น นำไปสู่ความสามารถในการทำกำไรที่มั่นคง ในช่วงเวลานี้ สตาร์ทอัปอาจได้รับความสนใจจากผู้ซื้อที่มีศักยภาพ หรืออาจพัฒนาไปสู่การเป็นสตูดิโอสตาร์ทอัปที่ให้กำเนิดธุรกิจใหม่ ๆ โดยใช้เงินทุนที่ได้รับจากความสำเร็จของตัวเอง

2. เงินทุน

การทำธุรกิจด้วยตัวเองในช่วงแรกมีความเสี่ยงสูง สตาร์ทอัปมักจะต้องเผชิญกับสภาวะเหมือน ๆ กันคือ “ขาดทุนสะสม” เพราะมีโอกาสสูงที่ธุรกิจจะไม่เป็นไปตามแผน ตามงบการเงินที่เราคาดการณ์ว่า มีโอกาสนำไปสู่การขาดทุนมหาศาลได้

ความไม่แน่นอนของรายได้ เป็นเรื่องที่เจ้าของธุรกิจต้องหาทางแก้ไข เตรียมรับมือไว้ให้รัดกุม โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางการเงิน ต้องให้มั่นใจว่าเรามีแหล่งเงินทุนเพียงพอจะดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดไปถึงจุดคุ้มทุนและทำกำไร ขณะเดียวกันต้องพยายามสร้างฐานลูกค้าและทำยอดขายให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเช่าสำนักงาน ค่าจ้างพนักงาน และค่าการตลาด ที่เป็นต้นทุนซึ่งในบางครั้งไม่อาจลดได้

3.การแข่งขันสูง สภาพตลาดเปลี่ยนแปลงเร็ว

บางธุรกิจมีการแข่งขันสูงมาก คู่แข่งที่ครองตลาดอยู่แล้วมีความแข็งแกร่งมาก จนเราไม่อาจแย่งส่วนแบ่งการตลาดได้มากพอจนสร้างกำไรให้กับบริษัท การที่ต้องแข่งขันกับธุรกิจที่มีขนาดใหญ่และฐานลูกค้าที่มั่นคง ทำให้สตาร์ทอัปต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการทำการตลาดและสร้างแบรนด์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าและแข่งขันได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดทุนในช่วงเริ่มต้นและต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว บางธุรกิจยาวนานหลักหลายปี ซึ่งหากเงินทุนไม่มากพอ ก็จะทำให้ธุรกิจอยู่ไม่รอดจนถึงจุดคุ้มทุนและเริ่มสร้างผลกำไร

สุดท้าย “การเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและตลาด” ก็เป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้และส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเสี่ยงทางการเงินของสตาร์ทอัป ภาวะเศรษฐกิจถดถอย การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค หรือการเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการทำกำไร ดังนั้น สตาร์ทอัปต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงและรักษาเสถียรภาพทางการเงินของธุรกิจให้มั่นคง

สถิติชี้ เริ่มต้นธุรกิจเอง โอกาสประสบความสำเร็จไม่ง่าย

โลกของสตาร์ทอัปแม้จะเต็มไปด้วยเรื่องราวความสำเร็จที่สร้างแรงบันดาลใจ แต่ในขณะเดียวกันก็มีตัวเลขสถิติที่เตือนใจเราถึงความท้าทายและความเสี่ยงที่แอบแฝงอยู่ ข้อมูลบ่งชี้ว่า สตาร์ทอัปสูงถึง 90% ต้องพบกับความล้มเหลว โดย 10% จะปิดตัวลงภายในปีแรก และอีก 70% จะไม่สามารถอยู่รอดผ่านปีที่ 5 ไปได้ นั่นหมายความว่ามีเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว

อัตราความล้มเหลวที่สูงสะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากและอุปสรรคมากมายที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการหาจุดลงตัวของผลิตภัณฑ์ในตลาด (Product-Market Fit) การวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการเงินทุนอย่างชาญฉลาด หรือแม้แต่การสร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความอยู่รอดของสตาร์ทอัป

แม้จะมีอัตราความสำเร็จที่ต่ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการเริ่มต้นธุรกิจด้วยตัวเองจะเป็นเรื่องที่สิ้นหวัง ผู้ประกอบการที่มีความพร้อม มีความเข้าใจในตลาด และมีความมุ่งมั่นทุ่มเท ก็ยังมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้จากความผิดพลาดของผู้อื่น วางแผนธุรกิจอย่างรอบคอบ บริหารความเสี่ยง และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ท้ายที่สุดแล้ว ความสำเร็จของสตาร์ทอัปไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลมาจากการทำงานหนัก การวางแผนอย่างรอบคอบ และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการที่สามารถเอาชนะอุปสรรคและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ จะเป็นผู้ที่สามารถคว้าโอกาสและสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

ประเทศไทยมีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กว่า 3.2 ล้านราย

เข้าซื้อกิจการ สูตรลัดโอกาสสร้างกำไร

ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันสูงขึ้นทุกขณะ ประกอบกับเศรษฐกิจเติบโตแบบชะลอตัว ต้นทุนพุ่งสูง แหล่งเงินทุนมีความเข้มงวดในการปล่อยเงินกู้มากขึ้น การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ อาจไม่ใช่ทางเลือกแรกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่

การซื้อกิจการที่มีอยู่แล้ว (Mergers and Acquisitions หรือ M&A) อาจเป็นเตัวเลือกที่น่าสนใจในการสร้างรายได้อย่างคุ้มค่ากว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ มีจำนวนผู้เกษียณอายุที่ไม่มีผู้สืบทอดกิจการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นี่คือโอกาสทองในการเข้าซื้อธุรกิจที่ทำกำไรได้ในราคาที่น่าสนใจ

ข้อมูลจาก World Bank (2023) ระบุว่า ประเทศไทยมีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กว่า 3.2 ล้านราย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 95% ของเศรษฐกิจทั้งหมด และ 55% ของธุรกิจเหล่านี้มีเจ้าของอายุ 55 ปีขึ้นไป นั่นหมายความว่าในอนาคตอันใกล้ เราอาจได้เห็นคลื่นลูกใหญ่ของธุรกิจที่รอการขาย ธุรกิจที่ทำกำไรได้และมีชื่อเสียงมั่นคงหลายแห่งอาจปิดตัวลง เพราะขาดผู้สืบทอดกิจการ นี่เป็นโอกาสให้ผู้ซื้อที่มีศักยภาพสามารถเข้าซื้อกิจการที่ทำกำไรเหล่านี้ได้ในราคาที่อาจต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง จากศูนย์รวมซื้อขายกิจการชั้นนำเช่น Max solutions

ข้อดีของการซื้อต่อกิจการ

1. สร้างรายได้ทันที

หนึ่งในข้อได้เปรียบที่โดดเด่นที่สุดของการซื้อกิจการที่มีอยู่แล้ว คือศักยภาพในการสร้างรายได้ทันที แตกต่างจากการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่ต้องใช้เวลาในการสร้างฐานลูกค้าและทำการตลาดเพื่อให้มีรายได้เข้ามา การซื้อกิจการเปรียบเสมือนการเข้าร่วมการแข่งขันวิ่ง ที่คุณมีผู้เริ่มวิ่งแทนคุณไปแล้วเกินครึ่งทาง ในขณะที่สตาร์ทอัปยังคงอยู่ที่จุดเริ่มต้น

ธุรกิจที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วมักจะมีฐานลูกค้าที่มั่นคงและสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง หมายความว่าเมื่อคุณซื้อกิจการ คุณจะได้รับสิทธิ์ในการรับรายได้เหล่านั้นทันที ตัวอย่างเช่น คุณซื้อกิจการร้านอาหารเจ้าดัง คุณไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากศูนย์ในการคิดแผนการตลาดหาลูกค้า แต่คุณสามารถรับช่วงต่อจากฐานลูกค้าเดิมที่ไว้วางใจในรสชาติความอร่อย คุณภาพอาหาร มีรายได้เข้ามาตั้งแต่วันแรกในฐานะเจ้าของ จากนั้นหน้าที่ของคุณคือรับช่วงต่อพัฒนาหาลูกค้าเพิ่มขึ้นให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ตามแผนธุรกิจที่วางไว้

2. มีฐานลูกค้าเก่า

ข้อมูลฐานลูกค้าที่มีอยู่แล้ว ถือเป็นทรัพย์สินอันมีค่าที่ช่วยให้คุณสามารถสร้างรายได้และเติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเสียเวลาและทรัพยากรในการสร้างฐานลูกค้าใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น เสมือนคุณได้เป็นเจ้าของต้นไม้ใหญ่ที่ออกผลแล้ว แทนที่จะต้องเริ่มปลูกต้นกล้าเล็ก ๆ และรอคอยวันที่จะเติบโตออกผล

ข้อมูลฐานลูกค้านี้ยังหมายรวมถึง พฤติกรรมของผู้บริโภค ความชอบในผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสถิติที่เกิดขึ้นจริง เชื่อถือได้ เนื่องจากผ่านการทดสอบการตลาดจริงมาแล้ว ข้อมูลเหล่านี้ต้องใช้เวลาสะสม ซึ่ง เราจะไม่มีทางได้เลยหากเริ่มต้นธุรกิจใหม่

ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณซื้อกิจการร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดมานานกว่า 10 ปี คุณไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากศูนย์ในการสร้างชื่อเสียงและดึงดูดลูกค้าใหม่ แต่คุณสามารถสานต่อความสัมพันธ์กับลูกค้าเดิมที่มีอยู่แล้ว และสร้างความประทับใจด้วยการมอบบริการที่ดีขึ้น เพื่อรักษาความภักดีของฐานลูกค้าและกระตุ้นการซื้อซ้ำ

อีกข้อดีสำคัญอยู่ตรงที่ข้อมูลการซื้อในอดีตของลูกค้าจะช่วยให้เจ้าของธุรกิจ ประเมินคุณภาพของผลิตภัณฑ์ แนวโน้มความนิยมของสินค้าได้แม่นยำขึ้น ช่วยให้สามารถบริหารต้นทุนการสต็อกสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อนึ่ง การมีฐานลูกค้าเดิมไม่ได้หมายความว่าคุณจะสามารถนิ่งนอนใจได้ คุณยังคงต้องพยายามรักษาและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเดิม รวมถึงขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า การมอบบริการที่เป็นเลิศ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ทันสมัยอยู่เสมอ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณรักษาฐานลูกค้าเดิมและดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง

3. โมเดลธุรกิจที่ทำได้จริง

การซื้อกิจการที่มีทำรายได้ดีอยู่แล้ว เป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันว่าโมเดลธุรกิจที่ดำเนินอยู่นั้นใช้ได้จริง เปรียบเหมือนสูตรสำเร็จที่ผ่านการทดสอบและพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถสร้างรายได้และผลกำไรได้จริง คุณไม่ต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ช่วยให้คุณสามารถมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและขยายธุรกิจได้อย่างมั่นใจ

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณซื้อกิจการบริษัทผลิตเสื้อผ้าที่มีการจัดการและกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ คุณจะได้รับประโยชน์จากโมเดลธุรกิจที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการของตลาดได้ คุณสามารถนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของทีมงานที่มีอยู่มาปรับใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ โดยไม่ต้องเสียเวลาและทรัพยากรในการทดลองวิธีการใหม่ๆ ที่อาจไม่ประสบความสำเร็จ

การมีโมเดลธุรกิจที่พิสูจน์แล้วว่าสำเร็จจริง ช่วยให้คุณสามารถคาดการณ์รายได้ ค่าใช้จ่ายได้แม่นยำมากขึ้น เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการวางแผนทางการเงินและการลงทุนในอนาคต ที่สำคัญ รูปแบบธุรกิจที่ดี ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจของคุณในสายตานักลงทุนกับสถาบันการเงิน ทำให้การขอสินเชื่อหรือระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจเป็นไปได้ง่ายขึ้น

4. จัดหาทุนง่ายขึ้น

การเข้าซื้อกิจการที่มีผลกำไรอยู่แล้วนั้นเปรียบเสมือนได้กุญแจไขประตูสู่แหล่งเงินทุนที่หลากหลาย เมื่อเทียบกับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่ต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างยากลำบาก

ธุรกิจที่มีผลประกอบการที่ดี มีประวัติการดำเนินงานที่มั่นคง ย่อมได้รับความไว้วางใจจากสถาบันการเงินมากกว่า ทำให้การขอสินเชื่อหรือระดมทุนเพื่อขยายกิจการเป็นไปได้ง่ายขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณตัดสินใจซื้อกิจการโรงแรมที่มีรายได้เติบโตอย่างสม่ำเสมอ ผลประกอบการย้อนหลัง 12 เดือน ตัวเลขบวกเขียว แนวโน้มของกราฟพุ่งสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ คุณสามารถใช้ข้อมูลทางการเงินเหล่านี้เป็นหลักฐานแสดงถึงศักยภาพในการทำกำไรของธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการขยายกิจการหรือปรับปรุงโรงแรมของคุณได้

ทั้งนี้ เมื่อสถาบันการเงินพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจ พวกเขาจะพิจารณาจากหลายปัจจัยสำคัญ เช่น ผลประกอบการในอดีต รายได้ กำไร และกระแสเงินสดของธุรกิจในช่วงเวลาที่ผ่านมา แผนธุรกิจชัดเจนหรือไม่ แนวทางการดำเนินการทำได้จริงแค่ไหน รวมถึงความเป็นไปได้ในการเติบโตและสร้างผลกำไรในอนาคต

หลายสถาบันการเงินอาจต้องการหลักประกันเพื่อลดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ เช่น ที่ดิน อาคาร หรือทรัพย์สินอื่นๆ ที่มีมูลค่า รวมถึงพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ โดยประเมินจากรายได้ หนี้สินที่มีอยู่ และประวัติการชำระหนี้ในอดีต

5. ทีมงานคุณภาพพร้อมขับเคลื่อนธุรกิจ

การซื้อกิจการที่ดำเนินงานอยู่แล้ว ไม่เพียงแต่คุณจะได้รับสินทรัพย์และทรัพย์สินทางปัญญาของธุรกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึง “ทีมพนักงานที่มีความสามารถ” พร้อมทำงานและเข้าใจธุรกิจเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญที่สตาร์ทอัปต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมากในการสร้างทรัพยากรบุคคลขึ้นมา

พนักงานเหล่านี้เปรียบเสมือนฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนธุรกิจให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น พวกเขามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ กระบวนการทำงาน และวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างดี ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงานใหม่ ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุด หลังมีการเปลี่ยนมือเจ้าของ

พนักงานที่มีประสบการณ์มีความเข้าใจในตลาดและลูกค้าทะลุปรุโปร่ง พวกเขารู้จักคู่แข่ง รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร มีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการขยายธุรกิจได้

ลองนึกภาพว่าคุณกำลังซื้อกิจการร้านกาแฟที่มีชื่อเสียง พนักงานที่มีอยู่แล้วรู้จักเมนู รู้จักลูกค้าประจำ และรู้วิธีการชงกาแฟที่ลูกค้าชื่นชอบ คุณไม่จำเป็นต้องเสียเวลาในการฝึกอบรมพนักงานใหม่ หรือสร้างสูตรกาแฟใหม่ๆ เพราะทุกอย่างพร้อมให้คุณสานต่อและพัฒนาได้ทันที

ในทางกลับกัน สตาร์ทอัปต้องเริ่มต้นจากการสรรหาและคัดเลือกพนักงาน ฝึกอบรม และสร้างทีมขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่พนักงานใหม่จะไม่เข้าใจวัฒนธรรมองค์กร หรือไม่สามารถทำงานได้ตามที่คาดหวัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและการดำเนินงานของธุรกิจ

6. ระบบการทำงานพร้อมใช้

นอกเหนือจากได้พนักงานที่พร้อมทำงานแล้ว เรื่องระบบการทำงานที่พร้อมใช้งานในธุรกิจก็ช่วยลดภาระยุ่งยากให้เจ้าของกิจการได้เช่นกัน โครงสร้าง-ฟันเฟืองในบริษัทเป็นเหมือนกระดูกสันหลังที่รองรับการดำเนินงานของธุรกิจทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดการสินค้าคงคลัง ระบบบัญชี ระบบการขาย หรือแม้แต่วัฒนธรรมองค์กรที่สั่งสมมายาวนาน ต่อให้พนักงานส่วนใดลาออกไป การมีระบบที่เซตมาดีแล้ว จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ไม่สะดุด

การซื้อกิจการช่วยให้คุณไม่ต้องเริ่มต้นสร้างระบบเหล่านี้จากศูนย์ ประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากร
ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้วมักมีระบบการทำงานที่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจนมีประสิทธิภาพ ระบบเหล่านี้ผ่านการทดสอบจนพิสูจน์แล้วว่าสามารถรองรับการดำเนินงานของธุรกิจได้อย่างราบรื่น ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดข้อผิดพลาด และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน

เหล่านี้หมายรวมถึง “วัฒนธรรมองค์กร” ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นชุดของค่านิยม ความเชื่อ และพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ขององค์กรนั้น ๆ วัฒนธรรมองค์กรที่ดีมีส่วนสำคัญในการสร้างความผูกพันและความจงรักภักดีของพนักงาน ส่งผลต่อประสิทธิภาพและความสำเร็จของธุรกิจในระยะยาว การเข้ามาบริหารกิจการที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีอยู่แล้ว ช่วยลดความเหน็ดเหนื่อยในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นใหม่

แต่ถ้าเลือกทำธุรกิจสตาร์ทอัปต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมากในการสร้างระบบการทำงาน สร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นใหม่ กว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งอาจต้องผ่านการลองผิดลองถูกหลายครั้ง จนได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสม ซึ่งในระหว่างนั้นถ้าที่บริษัทยังขาดทุนสะสม ก็อาจส่งผลต่อกำลังใจของบุคลากรในทีมได้

สถิติยืนยัน ซื้อต่อกิจการ โอกาสเกินครึ่งไปได้สวย

การซื้อกิจการมาดำเนินธุรกิจต่อมีอัตราความสำเร็จที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่มีข้อมูลจากหลายการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าอัตราความสำเร็จโดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 50-60% หมายความว่าประมาณครึ่งหนึ่งของกิจการที่แม้เปลี่ยนมือเจ้าของ ก็สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจที่ตั้งไว้ได้ การศึกษาโดย Harvard Business Review ชี้ให้เห็นว่า แม้ 70-90% ของการทำ M&A นั้นไม่ถึงเป้าของมูลค่าที่คาดหวัง แต่ส่วนใหญ่ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้และบรรลุผลลัพธ์ที่เป็นบวกระยะยาวในที่สุด

เมื่อเปรียบเทียบกับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ อัตราความสำเร็จของสตาร์ทอัปนั้นต่ำกว่าอย่างมาก โดยหัวใจหลักๆ ที่การซื้อต่อกิจการ มีอัตราความสำเร็จสูงกว่า มาจากความมั่นคงทางการเงิน กิจการมักมีฐานลูกค้าและรายได้ที่มั่นคงอยู่แล้ว ทำให้การบูรณาการทางการเงินเป็นไปได้อย่างราบรื่นกว่าการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่ยังไม่มีรายได้หรือฐานลู​กค้า การซื้อกิจการที่มีประวัติการดำเนินงานที่ดีทำให้บริษัทสามารถลดความเสี่ยงที่มักจะเกิดขึ้นในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ อาจเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการตลาดและการแข่งขันที่รุนแรง

แม้ 70-90% ของการทำ M&A นั้นไม่ถึงเป้าของมูลค่าที่คาดหวัง

3 หัวใจหลักที่ต้องพิจารณาก่อนซื้อกิจการ

1. ตรวจสอบกิจการอย่างละเอียด

สิ่งที่คุณเห็นจากภายนอกอาจไม่ใช่ภาพสะท้อนที่แท้จริงของการบริหารงานภายในบริษัท การตรวจสอบกิจการอย่างละเอียดเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณมองเห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และเป็นพื้นฐานในการเปรียบเทียบโอกาสทางธุรกิจต่าง ๆ

ข้อมูลหลัก ๆ ที่เราต้องรู้อย่างชัดเจนได้แก่

สถานะทางการเงิน : ตรวจสอบงบการเงินย้อนหลังอย่างน้อย 3 ปี งบกำไรขาดทุน งบดุล งบกระแสเงินสด เพื่อให้เห็นภาพรวมสถานะทางการเงินของบริษัท รวมถึงหนี้สินที่มีอยู่

การดำเนินงาน : ศึกษาแผนธุรกิจ กระบวนการทำงาน ระบบการจัดการภายใน โครงสร้างองค์กร สัญญาต่าง ๆ ที่ทำไว้กับลูกค้า คู่ค้า หรือซัพพลายเออร์ เพื่อให้เข้าใจการดำเนินงานของธุรกิจ

ทรัพย์สิน : ตรวจสอบทรัพย์สินที่มีอยู่ เช่น ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ เครื่องจักร สินค้าคงคลัง ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เพื่อประเมินมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ

ด้านกฎหมาย : ตรวจสอบสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ การจดทะเบียนธุรกิจ ใบอนุญาตต่างๆ คดีความที่อาจมีอยู่ เพื่อให้แน่ใจว่ากิจการดำเนินงานถูกต้องตามกฎหมาย

ลูกค้าและตลาด : ศึกษาฐานลูกค้า กลุ่มเป้าหมาย คู่แข่ง ตลาดที่มีศักยภาพ เพื่อประเมินโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ

พนักงาน : ทำความเข้าใจโครงสร้างเงินเดือน สวัสดิการ สัญญาจ้างงาน รวมถึงประวัติการทำงานของพนักงาน เพื่อวางแผนการบริหารทรัพยากรบุคคล

2. ความสามารถในการซื้อกิจการ

การซื้อกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก เงินทุนจึงเป็นเรื่องท้าทายของผู้ประกอบการที่สนใจเข้าซื้อ โดยทั่วไปแล้ว ผู้ให้กู้สำหรับธุรกิจขนาดเล็กมักกำหนดให้ผู้ซื้อมีเงินทุนอย่างน้อย 10% ของมูลค่ากิจการ เช่น หากคุณต้องการซื้อกิจการมูลค่า 1,000,000 บาท คุณต้องมีเงินทุนอย่างน้อย 100,000 บาทนี่เป็นเพียงตัวอย่างง่ายๆ และยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ค่าธรรมเนียมวิชาชีพ และค่าธรรมเนียมการปิดกิจการ

3. ความสนใจของคุณ

หากคุณมีไอเดียทางธุรกิจที่ไม่เหมือนใครและหลงใหลในตลาดนั้นๆ อย่างแท้จริง การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ อาจเป็นทางเลือกที่ดี แต่หากทักษะหรือความสนใจของคุณไม่ได้แตกต่างโดดเด่นมากขนาดนั้น การสานต่อความสำเร็จของผู้อื่นก็ไม่เสียหาย

ลองพิจารณากิจการที่มีอยู่แล้วว่าเหมาะสมกับคุณหรือไม่ การซื้อต่อกิจการแล้วประสบความสำเร็จต่อเนื่องมากขึ้นอยู่กับว่าคุณสามารถใช้ทักษะของคุณได้ดีที่สุดอย่างไร

การซื้อกิจการเป็นเหมือนการสร้างรากฐานให้คุณได้เติมเต็มความฝันในการเป็นเจ้าของธุรกิจ และเป็นเส้นทางอาชีพและรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากการเริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์ หรือการทำงานในฐานะมนุษย์เงินเดือน ตั้งแต่วันแรก คุณจะได้เป็นผู้นำ ตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ และมีผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการสร้างรายได้ของคุณ

ตารางเปรียบเทียบ การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ VS ซื้อกิจการที่มีอยู่แล้ว

แง่มุมที่พิจารณา การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ การซื้อกิจการที่มีอยู่แล้ว
เวลาในการเริ่มต้น 1 ปีขึ้นไป 3-5 เดือน
ระดับความเสี่ยง สูง (อัตราความล้มเหลว 90%) ต่ำกว่า (อัตราความสำเร็จสูงกว่า)
เงินทุน ไม่จำกัด (อาจล้มเหลวและสูญเสียทั้งหมด) จำกัด (ราคาซื้อตามที่ตกลงกัน)
ระยะเวลาจนกว่าธุรกิจจะทำกำไร 3-5 ปี ทำกำไรได้ทันที
รายได้ ไม่มีรายได้ทันที มีรายได้ทันที
รูปแบบธุรกิจ & ผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับตลาด ยังไม่พิสูจน์ พิสูจน์แล้ว
ฐานลูกค้า ต้องสร้าง มีอยู่แล้ว
ชื่อเสียงและเครดิต ต้องสร้าง มีอยู่แล้ว
ทีมงาน ต้องสร้าง มีอยู่แล้ว
การเงิน ยาก ง่าย
ศักยภาพการเติบโต ไม่แน่นอน มีศักยภาพการเติบโตที่พิสูจน์แล้ว (เฉลี่ย 15%)

ต้องการซื้อต่อกิจการ ไม่รู้เริ่มต้นตรงไหน ให้ Max Solutions ช่วยคุณได้

ต้องการซื้อต่อกิจการ ไม่รู้เริ่มต้นตรงไหน ให้ Max Solutions ช่วยคุณได้

Max Solutions คือผู้เชี่ยวชาญด้านการซื้อขายกิจการ ที่พร้อมช่วยให้คุณค้นพบธุรกิจที่ตรงความต้องการ เพื่อสานต่อความสำเร็จของคุณ โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ด้วยเครือข่ายธุรกิจที่หลากหลายกว่า 100 ธุรกิจ ครอบคลุม 15 อุตสาหกรรม ซึ่งเจ้าของธุรกิจเหล่านี้ต้องการวางมือ และพร้อมส่งต่อธุรกิจให้กับผู้ซื้อที่สนใจและมีศักยภาพ

ทำไมต้องเลือก Max Solutions?

– มีโอกาสเจอธุรกิจที่ตรงใจง่ายกว่า จากธุรกิจหลากหลายขนาด ตั้งแต่หลักสิบล้านบาทไปจนถึงหลักพันล้านบาท

– ธุรกิจที่เจ้าของต้องการวางมือ ส่วนใหญ่มักเป็นธุรกิจที่มีฐานลูกค้าและชื่อเสียงที่มั่นคง พร้อมให้คุณสานต่อความสำเร็จได้ทันที

– พร้อมให้คุณตรวจสอบกิจการอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจซื้อ

– กระบวนการซื้อขายโปร่งใสง่าย ๆ เพียง 4 ขั้นตอน ผ่านการดูแลของทีมงาน Max solutions

ตัวอย่างธุรกิจที่น่าสนใจ

Fire Guard - ผู้นำด้านอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ป้องกันและระงับอัคคีภัยในกรุงเทพฯ

Fire Guard

Fire Guard – ผู้นำด้านอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ป้องกันและระงับอัคคีภัยในกรุงเทพฯ ด้วยชื่อเสียงที่สั่งสมมานานกว่า 16 ปี Fire Guard มีฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศกว่า 30,000 ราย มีรายได้ต่อปีเฉลี่ย 85-100 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน มีอัตราการซื้อซ้ำ 70% จากลูกค้า 50 อันดับแรก มีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ ธุรกิจนี้เป็นเจ้าของอาคาร 4 หลัง ในที่ดินเกือบ 1 ไร่ มูลค่ารวมกว่า 400 ล้านบาท ขณะนี้เจ้าของต้องการวางมือเนื่องจากเกษียณอายุและไม่มีทายาทสืบทอดธุรกิจ จึงเสนอขายในราคาเริ่มต้นเพียง 75 ล้านบาทเท่านั้น

สนใจเป็นเจ้าของธุรกิจ ติดต่อ Max Solutions ได้ทันที

เพียงแจ้งความต้องการของคุณ แล้วทีมงานจะคัดสรรธุรกิจที่เหมาะสม พร้อมข้อมูลรายละเอียดให้คุณพิจารณาเบื้องต้น หากสนใจ คุณสามารถวางเงินมัดจำเพียง 1% (ต่างจากที่อื่นที่ต้องวางเงินถึง 30% ขึ้นไป) เพื่อล็อคดีล และเข้าไปทดลองงานจริงในบริษัทนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อขายจริง เมื่อพอใจและตัดสินใจแล้วจึง ดำเนินการทำสัญญาซื้อขายอย่างเป็นทางการ

https://maxsolutions.co.th/buy/

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button